พุทธแบบ “ญี่ปุ่น” ผสมผสาน หลากหลาย
สะท้อนผ่าน “Master piece” ในพิพิธภัณฑ์ฯโตเกียว
ความเป็นมาของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เมื่อกษัตริย์เกาหลีจากอาณาจักรเพกเจ (อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้) ทรงส่งพระราชสาส์นยกย่องความดีงามของศาสนาพุทธ มาพร้อมพระพุทธรูปทองคำ คัมภีร์ เครื่องใช้ทางศาสนาและสมณทูต มายังญี่ปุ่น เพื่อเชิญชวนให้นับถือศาสนาพุทธ ส่งผลเกิดข้อถกเถียงนำไปสู่การขัดแย้งครั้งใหญ่ในราชสำนักญี่ปุ่น เนื่องจากกลุ่มขุนนางมีความเห็นแตกเป็น ๒ ฝ่าย
- ฝ่ายหนึ่งนำโดยตระกูล “โมโนโนเบะ” ต้องการให้ยึดมั่นในลัทธิชินโตตามแบบเดิมต่อไป
- ฝ่ายหนึ่งนำโดยตระกูล “โซงะ” สนับสนุนให้หันมานับถือศาสนาพุทธ เพราะเห็นว่าเป็นความเชื่อที่กำลังเป็นที่นับถืออย่างแพร่หลายในจีนและเกาหลี ซึ่งในเวลานั้นดินแดนทั้งสองมีความก้าวหน้ากว่าญี่ปุ่น ขุนนางฝ่ายนี้จึงต้องการนำพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการปรับตัวให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน
ความขัดแข้งระหว่าง ๒ ตระกูลดังกล่าว เป็นชนวนให้เกิดการสู้รบกัน และในที่สุดตระกูลโซงะก็เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้ศาสนาพุทธได้รับการส่งเสริมในญี่ปุ่น จากนั้น “เจ้าชายโตกุ” ผู้ทรงมีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับตระกูลโซงะได้ขึ้นมามีอำนาจ พระองค์ทรงปฏิรูปบ้านเมืองครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนให้ราชสำนักเป็นศูนย์กลางการปกครอง ไม่ปล่อยให้ตกอยู่ในมือขุนนางตระกูลต่างๆ อย่างที่ผ่านมา พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาที่สำคัญยิ่ง ทรงส่งนักปราชญ์ไปศึกษาวัฒนธรรมจีน และนำตำรากับคัมภีร์กลับมาด้วย
พุทธศิลป์ “ญี่ปุ่น” ที่มา ที่ไป
ส่วนพัฒนาการของงานพุทธศิลป์ กล่าวได้ว่ามีลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี เริ่มด้วย
ยุคทอง ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง แบ่งเป็นสมัยต่างๆ ดังนี้
- สมัยฮะกุโฮ เมืองหลวงอยู่ที่เมืองฟูจิวาระ ยุคนี้แม้จะมีปํญหาทางการเมือง แต่พุทธศาสนาก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือน มิหนำซ้ำยังรุ่งเรืองขึ้น และมีประเพณีที่สำคัญเกิดขึ้น นั่นคือเมื่อพระสงฆ์นิกายฮอสโซ (โยคาจาร) เริ่มทำการเผาศพ ส่งผลให้การสร้างสุสานลดความสำคัญและเลิกไปในที่สุด
- สมัยนารา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนารา ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างตามผังเมืองฉางอาน (ซีอาน) ของจีน ทั้งยังรับอิทธิพลด้านพุทธศาสนาจากจีนอย่างไม่ขาดสาย มีการสร้างวัดจำนวนมาก เพื่อให้เป็นทั้งสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นโรงพยาบาล โรงทาน สถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้า ส่งผลให้ศาสนาพุทธกลายเป็นศาสนาประจำชาติ
- สมัยเฮอิอัน ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองเฮอิอันเกียว เป็นช่วงที่พุทธศาสนานิกายเทนได (ตันตระ) และนิกายชินงอน (วัชรยาน) เจริญรุ่งเรือง ที่น่าสนใจคือคำสอนของนิกายชินงอนมีบทบาทอย่างสูง โดยเฉพาะการสอนให้เชื่อว่าพระพุทธเจ้าไวโรจนะทรงเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และทรงเป็นองค์เดียวกับ "พระสุริยเทวี” ของลัทธิชินโต กล่าวคือเป็นยุคที่พุทธศาสนาได้ผสมผสานเข้ากับลัทธิชินโตมากกว่าสมัยใดๆ จึงเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนศาลเจ้าในลัทธิชินโต ให้กลายเป็นวัดทางพุทธศาสนานิกายชินงอนหลายแห่ง ถือได้ว่าพุทธศาสนาในญี่ปุ่นได้พัฒนาจนเป็นรูปแบบของตนอย่างชัดเจนที่สุด จนเกิดเป็นความเชื่อเฉพาะตนขึ้น เช่น เชื่อว่าพระพุทธเจ้าศากยมุนีทรงสามารถปัดเป่าความทุกข์ยาก บันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารงอกงาม คุ้มครองประเทศ และถือว่าพุทธศาสนาเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลสุขหรือทุกข์ได้ ด้วยเหตุนี้ การสร้างรูปเคารพ วัตถุบูชา จึงเหมือนกับเป็นการแก้บนสะเดาะเคราะห์
ยุคกลาง สามารถแยกย่อยได้หลายสมัยเช่นกัน แต่กล่าวโดยรวมได้ว่าเป็นยุคที่มีแต่ความวุ่นวายทางการเมือง เต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจ
-ในช่วงต้นของยุคนี้ การปกครองยังคงตกอยู่ในมือของ “โชกุน” ที่แยกกันอยู่ตามเขตต่างๆ โดยมีเมืองคามาคุระเป็นศูนย์กลาง ส่วนกษัตริย์ทรงแยกไปประทับอยู่ที่เมืองเกียวโต ทรงเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น พุทธศาสนาในยุคนี้ ได้เริ่มส่อให้เห็นเค้าของความเสื่อมโทรม เพราะจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นปกครอง และเป็นศาสนาที่เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับพิธีรีตรอง ชาวบ้านจึงขาดศรัทธา แล้วหันไปนับถือนิกายโจโด (สุขาวดี) และนิกายจิ ที่เน้นการเข้าถึงพระอมิตาภะได้อย่างง่ายดาย ด้วยการพร่ำสวดถึงพระองค์ด้วยถ้อยคำง่ายๆ ในยุคนี้จึงมีการสร้างรูปเคารพของพระอมิตาภะอย่างแพร่หลาย
ส่วนชนชั้นนักรบได้หันไปนับถือนิกายเซน ซึ่งเป็นนิกายที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทั้งด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ละคร พิธีดื่มชา การจัดสวน การจัดดอกไม้ และการฟันดาบ ฯลฯ กระทั่งในช่วงหลังกษัตริย์ทรงขจัดอำนาจของโชกุนลงได้ แต่ก็เกิดการตั้งตัวของโชกุนนอกระบบขึ้นเป็น “ราชสำนักเหนือ” แข่งกับอำนาจของกษัตริย์ที่กลายเป็น “ราชสำนักใต้”
ในยุคนี้แม้อยู่ในสงคราม ชาวบ้านขัดสน นักรบเบื่อหน่ายต่อการสู้รบ และพุทธศาสนาก็เสื่อมโทรมลง แต่โชกุนกลับใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย สนใจแต่งานศิลปะ ทำให้งานด้านนี้รุ่งเรืองขึ้น และด้วยเหตุที่โชกุนในยุคนี้ส่งเสริมนิกายเซน งานศิลปะจึงรับอิทธิพลจากนิกายนี้อย่างเต็มที่ จึงไม่นิยมสร้างรูปเคารพ แต่เปลี่ยนมาวาดภาพนักบวช ภาพวาดด้วยพู่กันจีน ซึ่งเน้นความสงบ ดูเรียบง่าย งานที่ได้รับความสนใจอย่างมากก็คือ การจัดสวนหิน การดื่มชา คัดลายมือ บทกวี และอุปรากรโน ฯลฯ
-สมัยเอโดะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โชกุน Tokugawa leyasu ทำให้บ้านเมืองสงบสุข โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองเอโดะ ยุคนี้พุทธศาสนาเสื่อมลงอย่างมาก และกลายเป็นที่รังเกียจของกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งเปลี่ยนไปนับถือลัทธิขงจื้อใหม่ ที่พัฒนาขึ้นในสมัยราชวงศ์ส้งของจีน วัดต่างๆ จึงถูกควบคุมให้มีอยู่ในความดูแลของรัฐ ส่วนพระสงฆ์ก็ถูกลดบทบาทให้ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ในการอ่านเขียน และสอนหลักธรรมพื้นฐานแก่เด็ก
-สมัยเมจิ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ย้ายเมืองหลวงไปยังเอโดะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โตเกียว” แปลว่าราชธานีตะวันออก ยุคนี้ลัทธิชินโตกลับมาสู่ความนิยมอีกครั้ง โดยมีคำสอนให้ยกย่องพระจักรพรรดิว่าเป็นอวตารของเทพเจ้า สอดคล้องกับการสิ้นสุดลงของยุคโชกุน
ในยุคนี้ราชสำนักไม่นับถือพุทธศาสนาอีกต่อไป มีการห้ามสร้างวัด ทั้งยังมีการปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่ ทำให้บทบาทของพระสงฆ์เปลี่ยนไป เหลือเพียงการเป็นผู้ประกอบพิธีต่างๆ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เห็นได้ชัดคือ บางนิกายสามารถมีครอบครัวได้ ความสำคัญของศาสนาพุทธในญี่ปุ่นจึงลดลงอย่างมากในปัจจุบัน งานพุทธศิลป์ที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว จึงเป็นเสมือนเค้ารางความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งเต็มไปด้วยความหรูหราสง่างาม แตกต่างจากศิลปะในปัจจุบันที่สะท้อนรสนิยมอันเรียบหรูจากแนวคิดแบบเซนและชินโต
ภาพที่ ๑ – ๒ ภาชนะสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยชั้นนอกสุดเป็นกล่องสลักจากหิน สำหรับใส่ภาชนะขนาดเล็กที่ซ้อนลดหลั่นกันไว้ ประกอบด้วยผอบเงิน กล่องสำริด ชั้นในสุดเป็นกล่องทองคำซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภาชนะชุดนี้ขุดได้จากวัด Ota เมืองโอซากา Mr.Ota Jisaburo และ Mr.Hirana Sutejiro เป็นผู้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว | |
ภาพที่ ๓ พระสุริยประภา (Nikko Bosatsu) สมัยนารา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ในประเทศญี่ปุ่นถือว่าพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทรงเป็นแสงอาทิตย์ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง รูปเคารพองค์นี้มีลักษณะใบหน้ากลม ดวงตาเรียวเล็ก ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าสร้างตามแบบประติมากรรมของจีนสมัยราชวงศ์ถัง แต่มีส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของสมัยนารา คือใช้ไม้หุ้มด้วยรักแห้งปิดทองเป็นวัสดุในการสร้าง วัสดุเหล่านี้นิยมใช้กันอย่างมากในช่วงปลายสมัยนารา เพราะช่วยให้สร้างผลงานได้อ่อนหวานขึ้น โดยเฉพาะการพลิ้วไหวของชายผ้า | |
ภาพที่ ๔ พระอินทร์ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยปกติในศิลปะญี่ปุ่น พระอินทร์หรือสักกะ มักปรากฏคู่กับพระพรหม ในฐานะผู้ติดตามพระพุทธเจ้าศากยมุนี นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นยังเชื่อว่าพระอินทร์เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วย ซึ่งต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมในอินเดีย | |
ภาพที่ ๕ Jion Daishi ท่านเป็นปรมาจารย์ชาวจีน ผู้ก่อตั้งนิกายฮอสโซและนำมาเผยแผ่ในญี่ปุ่น ท่านมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ แต่ประติมากรรมสลักจากไม้ชิ้นนี้สร้างขึ้นในสมัยเฮอิอัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ | |
ภาพที่ ๖ พระโพธิสัตว์อจละนาถ (Fudo Myoo) พระนามของพระองค์เริ่มปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์ฟุกูเกนจากุสูตร โดยในยุคแรกๆ กล่าวแต่ว่าพระองค์ทรงเป็นทูตสวรรค์ แต่ต่อมาในคัมภีร์ไวโรจนสูตรได้กล่าวว่าพระองค์เป็นเจ้าแห่งแสงปัญญา และนับถือว่าเป็นเจ้าแห่งความเที่ยงธรรม ทรงเป็นปางสำแดงของพระพุทธเจ้าไวโรจนะและคอยถ่ายทอดคำสอน แม้จะมีใบหน้าดุร้ายแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อความชั่วร้าย แต่แท้ที่จริงแล้วทรงเปี่ยมด้วยเมตตา ทรงถือบ่วงบาศเพื่อคล้องจับกิเลส และใช้ดาบในอีกพระหัตถ์หนึ่งสำหรับตัดทำลายภาพลวงตาและอวิชชา ส่วนเปลวไฟด้านหลังเป็นสิ่งที่คอยเผาผลาญความชั่วร้าย นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้นำไปสู่ความตาย โดยจะช่วยนำผู้ตายให้เข้าถึงพุทธะหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ๗ วัน และการสวดภาวนาถึงพระองค์ยังช่วยให้หายเจ็บไข้ ทั้งยังช่วยคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัยอีกด้วย รูปเคารพของพระองค์นิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในสมัยเฮอิอัน เป็นที่นับถืออย่างมากโดยเฉพาะในหมู่นักพรตที่ปฏิบัติธรรมอยู่ตามหุบเขาห่างไกล และเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวบ้านตามชนบทมากกว่าเหล่าขุนนางในเมือง ส่วนประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นในสมัยเฮอิอัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ | |
ภาพที่ ๗ ท้าวเวสสุวรรณ (Bishamonten) ผู้ปกป้องทิศเหนือ สร้างขึ้นในสมัยเฮอิอัน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลักษณะที่เด่นชัดคือทรงถือสถูป ในสมัยนี้นิยมสร้างประติมากรรมที่มีสีสันและประดับด้วยทอง ดวงตาฝังด้วยหินมีค่า ที่น่าสนใจคือภายในยังได้บรรจุผ้าไหมพิมพ์ลายรูปท้าวเวสสุวรรณจำนวน ๑๑๐ แผ่นเอาไว้ด้วย | |
ภาพที่ ๘ พระอมิตาภะ สลักจากไม้ ปิดทอง พระเนตรฝังด้วยแก้ว สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งเป็นยุคที่ชาวบ้านทั่วไปให้ความนับถือพระองค์อย่างแพร่หลาย |