ห้องอาบน้ำสาธารณะของญี่ปุ่น เริ่มต้นแห่งแรกที่วัด
วัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนในห้องอาบน้ำสาธารณะของชาวญี่ปุ่น แบ่งออกได้เป็น ๒ แบบคือ การแช่น้ำแร่ (ออนเซน) และ การแช่น้ำธรรมดา (เซนโต)
การแช่น้ำแบบนี้ถือเป็นกิจวัตรที่ชาวญี่ปุ่นทำกันมานับพันปีแล้ว โดยกำเนิดขึ้นที่วัดก่อนเป็นแห่งแรกๆ การอาบน้ำที่วัดในยุคแรกๆ นี้ ยังไม่ได้เป็นการแช่ลงไปในน้ำอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่มีรูปแบบที่คล้ายกับการซาวน่าหรือการอบด้วยไอน้ำ ซึ่งถือกันว่าเป็นการชำระล้างร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนเข้าไปในวัด โดยผู้ที่จะเข้าชำระร่างกายด้วยวิธีนี้ จะเข้าไปเป็นกลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มจะถูกจัดแบ่งไปตามฐานะชนชั้น
ต่อมาการอาบน้ำรวมเช่นนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะในสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นช่วงที่ชนชั้นกลางขยายตัว เกิดโรงอาบน้ำสาธารณะอยู่ทั่วไป โดยชายหญิงจะแช่น้ำร่วมกันไม่มีการแบ่งแยกเพศและชนชั้น แต่ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกแบบวิคตอเรียแพร่หลายเข้าสู่ญี่ปุ่น เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในการจัดแบ่งสถานะทางเพศอย่างชัดเจน ทำให้โรงอาบน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นจำต้องจัดแบ่งห้องอาบน้ำชายหญิงออกจากกัน
สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ชาวญี่ปุ่นไม่มีห้องแช่น้ำในบ้านตนเองหรืออย่างไร จึงต้องมาแช่น้ำในโรงอาบน้ำสาธารณะ คำตอบก็คือ เดิมทีการแช่น้ำร้อน จะต้องใช้ไฟในการต้มน้ำ แต่ชาวญี่ปุ่นจะระมัดระวังเรื่องฟืนไฟเป็นอย่างมาก การต้มน้ำในปริมาณมากในบ้าน อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ได้ ซึงจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากบ้านญี่ปุ่นสร้างด้วยไม้ ติดไฟง่าย และยังสร้างเป็นกลุ่มติดๆ กัน ดังนั้นหากไฟไหม้ก็จะลุกลามอย่างรวดเร็ว จนอาจเผาผลาญบ้านเรือนหมดทั้งหมู่บ้านก็เป็นได้ ดังนั้นการสร้างโรงอาบน้ำสาธารณะที่มีระบบการดูแลที่ดี จะปลอดภัยกว่า
สามารถดูรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ ในคลิปรายการคิดเล่น เห็นต่าง สถานี voice tv คลิกที่นี่http://shows.voicetv.co.th/kid-len-hen-tang/64285.html