เพราะภูมิประเทศต่าง จึงมีชาวโรมัน 2 กลุ่ม
ก่อนที่ “โรม” จะเติบโตขึ้นเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ต้องใช้เวลาในการก่อร่างสร้างสมความรู้และวิทยาการอยู่นาน ไม่ต่างไปจากบ้านเมืองไหนๆ ในโลก
ธาวิต สุขพานิช ได้เขียนเล่าไว้ในบทความเรื่อง “โรม: จักรพรรดที่ไร้ซึ่งองค์พระจักรพรรดิ” ที่พิมพ์ต่อเนื่องหลายตอนเผยแพร่ใน มติชนสุดสัปดาห์ ว่าจักรวรรดิโรมมีกำเนิดมาจากชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ปากแม่น้ำ ในคาบสมุทรอิตาลี โดยชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เพราะนอกจากจะอยู่บนเส้นทางขึ้นเหนือล่องใต้ของคาบสมุทร ซึ่งเป็นจุดแวะพักของพ่อค้าผู้คนและนักเดินทางแล้ว ภูมิประเทศบริเวณนี้ยังประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นภูเขาและพื้นที่ที่เป็นสันทรายอันอุดมสมบูรณ์ เพราะแม่น้ำจะพัดพาผิวดินจากภูเขาลงมายังปากน้ำ เข้าท่วมซ้ำๆ อยู่ทุกปีๆ ละ ๓-๔ เดือน
ภูมิประเทศเช่นนี้ส่งผลให้ชาวโรมันแยกกันออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือพวก “พาทริเชี่ยน” เลือกอาศัยอยู่บนที่สูง ดำรงชีพด้วยการปลูกองุ่น มะกอก เป็นพืชหลัก และด้วยเหตุที่พืชเหล่านี้ต้องใช้เวลาปลูกนานกว่าสิบปีจะได้ผลผลิต คนกลุ่มนี้จึงต้องอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ อาศัยอยู่ในพื้นที่ของตนอย่างยาวนานชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งยังต้องการแรงงาน จึงต้องมี “ลูกพี่-ลูกน้อง” ทั้งทำงานและอุปถัมภ์ดูแลพึ่งพิงกัน
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือพวก “พลีเบี่ยน” เลือกใช้ชีวิตอยู่ตามเนินดินเนินทรายปากแม่น้ำ อาศัยช่วงที่น้ำไม่ท่วม ซึ่งจะกินเวลาราวๆ ๗-๘ เดือนต่อปี ทำการปลูกพืชไร่อายุสั้นๆ จำพวกโหระพา สะระแหน่ โอเรกาโน่ และด้วยเหตุที่สันทรายปากแม่น้ำจะย้ายตำแหน่งตามกระแสน้ำไปทุกปี คนกลุ่มนี้จึงแยกกันอยู่เป็นครอบครัวเล็กๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับการโยกย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ
ชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันของคนโรมัน ๒ กลุ่มนี้ ส่งผลให้วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่คนสองกลุ่มนี้ก็หาทางประสานประโยชน์ ทำมาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากัน เรียกได้ว่าอยู่อย่างแบ่งแยก แต่ก็เท่าเทียมกัน
จุดเปลี่ยนเริ่มขึ้นเมื่อกษัตริย์อีทรุสกันยกทัพเข้ามายึดครองโรมัน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสำหรับใช้เป็นฐานในการขยายอำนาจไปยึดครองชุมชนอื่นๆ ต่อไป ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดจากการถูกปกครองและเกณฑ์กำลังชายฉกรรจ์ไปร่วมรบนี่เอง ที่ทำให้ชาวโรมันมีโอกาสได้เรียนรู้ระบบระเบียบ รวมทั้งศิลปะวิทยาการที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธาจากชาวอีทรุสกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวโรมันในเวลาต่อมา