สัญลักษณ์ “ซ่อนนัย” ที่โบสถ์วัดบวรฯ เปรียบประดุจ “ท้องพระโรงกรุงรัตนโกสินทร์”?
วัดบวรนิเวศเป็นวัดที่วชิรญาณภิกขุประทับจำพรรษาในขณะผนวชอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนที่ต่อมาจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่วชิรญาณภิกขุทรงซ่อนนัยทางศาสนาและการเมืองไว้ในงานศิลปกรรมหลายประการ
อุโบสถของวัดแห่งนี้มีแผนผังที่แปลกกว่าอุโบสถอื่นๆ คือ มีอาคารอีก 1 หลังตั้งในแนวขวางอยู่ด้านหลังและเชื่อมต่อกัน ทำให้มีแผนผังเป็นรูปตัว T
ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ เสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า ที่อุโบสถวัดบวรนิเวศมีสัญลักษณ์บางประการที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสื่อนัยถึงการเปรียบให้อุโบสถเป็นเสมือนพระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง ศูนย์กลางอำนาจของทางโลก นั่นคือ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นท้องพระโรงที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปตัว T เหมือนกับอุโบสถวัดบวรนิเวศ
สัญลักษณ์ “ซ่อนนัย” ดังกล่าวประดับอยู่ที่บานประตูหน้าต่างของอุโบสถ ดังนี้
หน้าต่างของอาคารด้านหน้า เป็นรูปดวงตราประจำกรมกองต่างๆ ของขุนนางสมัยรัตนโกสินทร์ อาคารหลังนี้จึงเปรียบได้กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการกับขุนนาง
ประตูและหน้าต่างของอาคารขวางด้านหลัง เป็นรูปราชรถ ราชยาน เรือพระที่นั่ง เครื่องราชูปโภค เครื่องสูง พัสตราภรณ์ของกษัตริย์ อาคารหลังนี้จึงเปรียบได้กับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ของกษัตริย์
นอกจากนี้ใน พ.ศ.2390 วชิรญาณภิกขุยังโปรดฯ ให้ขยายสีมาออกไปรอบอุโบสถ โดยทำเป็นทรง “สอบหน้า ป่องกลาง” มีลักษณะคล้ายกับทรงตะโพน ซึ่งอาจสื่อว่าอุโบสถคือเขาพระสุเมรุ
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตโดย ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ เรื่อง “พระอินทร์ในคติพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พบในงานศิลปกรรมไทย” สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร 2559.