"เมืองมืด" ในจิตรกรรมขรัวอินโข่งวัดบรมนิวาส คือ นิคมนักโทษใน "ออสเตรเลีย-แทสมาเนีย” 

"เมืองมืด" ในจิตรกรรมขรัวอินโข่งวัดบรมนิวาส คือ นิคมนักโทษใน "ออสเตรเลีย-แทสมาเนีย” 

"เมืองมืด" ในจิตรกรรมขรัวอินโข่งวัดบรมนิวาส คือ "ออสเตรเลีย-แทสมาเนีย” 

               จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมในโบสถ์วัดบรมนิวาส เป็นภาพที่เขียนขึ้นในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ฝีมือขรัวอินโข่ง ภายใต้การกำกับของพระวชิรญาณเถระ (รัชกาลที่ 4) ภาพเหล่านี้เขียนขึ้นในรูปแบบและฉากแบบตะวันตก โดยอุปมาสิ่งต่างๆ ในภาพเข้ากับพระรัตนตรัย

               ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งคือ ภาพตอน “เมืองมืด” บนผนังฝั่งตรงข้ามพระประธาน แสดงภาพเมืองในชนบทเมืองหนึ่งท่ามกลางบรรยากาศมืดทึบ มีรูปบุคคลทำกิจวัตรต่างๆ เช่น ทำเกษตรกรรม ขนสัมภาระ มีรถม้า อูฐ รูปบุคคลแต่งกายทหารแบบตะวันตก และรูปบุคคลคล้ายชนเผ่า ไม่สวมเสื้อ โดยจารึกใต้ภาพนี้อธิบายว่า เมืองแห่งนี้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ สัตว์นานาชนิด และมีมหาสมุทรล้อมทุกด้าน ผู้คนไม่สามารถออกไปได้

               เดิมเคยมีการเสนอว่า ภาพนี้อาจต้องการสื่อถึงเมืองในดินแดนตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาล่าสุดดังอธิบายไว้ในหนังสือ "จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" พบว่า ภาพนี้น่าจะสื่อถึง “เกาะออสเตรเลีย” หรือ “เกาะแทสมาเนีย” ซึ่งตั้งอยู่ด้านใต้ติดกับออสเตรเลีย เกาะที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีความหลากหลายทางนิเวศวิทยา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เกาะทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และที่สำคัญคือถูกใช้เป็นพื้นที่กักกันนักโทษ (Penal colony) โดยนักโทษเหล่านี้จะต้องทำงานต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของจารึกอธิบายภาพ

               ดังนั้นภาพบุคคลที่กำลังทำกิจวัตรต่างๆ ในภาพ จึงน่าจะหมายถึงเหล่านักโทษที่ถูกส่งมากักกันที่เกาะแห่งนี้  ภายใต้การควบคุมของทหารอังกฤษ โดยอยู่อาศัยร่วมกับชนเผ่าอะบอริจิน ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ดังปรากฏภาพในจิตรกรรม ที่น่าสนใจคือ ภาพอูฐที่ปรากฏในจิตรกรรมนั้น น่าจะหมายถึงอูฐที่ถูกนำเข้าไปยังออสเตรเลียและเกาะแทสมาเนียตั้งแต่ ค.ศ.1840 เป็นต้นมา เพื่อใช้เป็นพาหนะช่วยขนสัมภาระหรือใช้เป็นพาหนะเดินทางสำรวจพื้นที่บุกเบิกห่างไกลในออสเตรเลียและแทสมาเนีย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความอดทนและสมบุกสมบัน อูฐเหล่านี้ต่อมาแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นอูฐป่าของออสเตรเลียในปัจจุบัน

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นอื่นๆ ได้ใน "จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้