“อุโมงค์วัดศรีชุม” ช่องทางเดิน อัญเชิญพระบรมธาตุ?
มณฑปวัดศรีชุม จ.สุโขทัย เป็นอาคารประดิษฐานพระอจนะ ที่มีรูปแบบที่เป็นปริศนาน่าขบคิดอยู่ 2 ประการคือ
1.แต่เดิม หลังคาของมณฑปมีรูปร่างเช่นใด
2.ช่องอุโมงค์ภายในผนังอาคาร ก่อสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด
ช่องอุโมงค์นี้ มีทางเข้าอยู่ที่ผนังบริเวณปากประตูมณฑป ด้านทิศใต้ เป็นช่องที่ก่อเป็นทางเดินแคบๆ ทอดขึ้นสู่หลังคา โดยระหว่างทางจะมีช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ เปิดออกสู่องค์พระอจนะในระดับพระศอ 2 ตำแหน่งด้วยกัน คือ ด้านทิศใต้ (ด้านข้าง) และด้านทิศตะวันตก (บริเวณด้านหลังพระเศียรของพระอจนะ)
ดร.โชติมา จตุรวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เสนอไว้ในหนังสือ “วิหารพระพุทธรูป สถาปัตยกรรมเปรียบเทียบไทย เมียนมา และศรีลังกา” ว่า ช่องอุโมงค์นี้อาจสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นทางเดินขึ้นไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุสำคัญ 2 องค์ ประกอบด้วยพระคีวาธาตุ (กระดูกคอ) และพระเกศาธาตุ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ที่บริเวณพระเศียรของพระอจนะ โดยพระบรมสาริกธาตุทั้ง 2 องค์นี้ พระมหาเถรศรีศรัทธาได้อัญเชิญมาจากมหิยังคณะเจดีย์ ลังกา ดังปรากฏร่องรอยอยู่ในจารึกหลักที่ 2
ข้อเสนอนี้สอดรับกับข้อเสนอของไมเคิล ไรท์ ซึ่งได้เคยอธิบายไว้ว่า อาจมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (พระคีวาธาตุและพระเกศาธาตุ) ที่พระมหาเถรศรีศรัทธาอัญเชิญมาจากมหิยังคณะเจดีย์ ลังกา โดยบรรจุพระเกศาธาตุไว้ที่พระเมาลี และพระคีวาธาตุไว้ที่พระศอของพระอจนะ โดยช่องอุโมงค์นี้จะใช้เป็นช่องทางเดินไปยังตำแหน่งที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และจะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ถูกบรรจุอยู่ในพระพุทธรูปออกมาทางช่องอุโมงค์นี้ เพื่อมาสรงน้ำและแห่แหนประจำทุกปีตามธรรมเนียมของลังกา
ขณะที่ปิแอร์ ปิชาร์ด เสนอไว้ว่า มณฑปวัดศรีชุมแห่งนี้ น่าจะเป็นอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยแต่เดิมน่าจะได้รับการออกแบบให้เป็นเจดีย์ซ้อนชั้นคล้ายกับเจดีย์วัดกู่กุด จ.ลำพูน โดยช่องอุโมงค์จะทอดต่อเนื่องไปตามผนังอาคารไปจนถึงชั้นสูงสุดของเจดีย์
(ที่มาภาพ: บทความเรื่องมณฑป วัดศรีชุม : มุมมองใหม่ วารสาร หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 6 (2552))
อ่านรายละเอียดของประเด็นนี้ได้ใน หนังสือ “วิหารพระพุทธรูป สถาปัตยกรรมเปรียบเทียบไทย เมียนมา และศรีลังกา” โดย ดร.โชติมา จตุรวงศ์
อ่านบทความของ ปิแอร์ ปิชาร์ด เรื่อง มณฑป วัดศรีชุม : มุมมองใหม่ โดย Pierre Pichard
วารสาร หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 6 (2552)