จิตรกรรมขรัวอินโข่ง วัดบรมนิวาส มีภาพ “นายกอังกฤษ” Duke of Wellington
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมในโบสถ์วัดบรมนิวาส เป็นจิตรกรรมที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่คาดว่าพระวชิรญาณเถระ(รัชกาลที่ 4) ทรงออกแบบ และโปรดฯ ให้ขรัวอินโข่งเป็นผู้วาด จิตรกรรมทั้งหมดนี้ถูกวาดขึ้นในรูปแบบศิลปะตะวันตก แสดงเรื่องต่างๆ ประกอบจารึกเรื่องปริศนาธรรมที่อยู่ใต้ภาพ โดยอุปมาเข้ากับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ภาพทั้งหมดเหล่านี้เป็นภาพที่เล่าเรื่องวิทยาการและเหตุการณ์สำคัญในตะวันตกที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3
ภาพสำคัญภาพหนึ่งคือ ตอน “นายสารถี-ผู้ฝึกม้า” เป็นภาพขบวนคนขี่ม้ามาจากด้านขวามุ่งไปด้านซ้ายของภาพ โดยมีภาพบุรุษขี่ม้าภาพหนึ่งที่ดูโดดเด่นด้วยการวาดให้มีขนาดใหญ่และมีการแต่งกายใส่สายสะพายที่แสดงว่าเป็นบุคคลสำคัญ ท่ามกลางคนจำนวนมากยืนโบกมือต้อนรับ ขณะที่ฉากหลังของภาพเป็นภาพอาคารต่างๆ โดยอาคารทางด้านขวามีธงชาติเนเธอร์แลนด์ปักอยู่
เดิมเคยมีการเสนอไว้ว่า ภาพดังกล่าวนี้อาจเล่าเรื่องสงครามวอเตอร์ลูที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์เมื่อ ค.ศ.1815 ซึ่งเป็นสงครามครั้งสำคัญระหว่างฝ่ายพันธมิตร นำโดยอังกฤษ เพื่อต่อต้านจักรวรรดิฝรั่งเศส โดยภาพบุรุษขี่ม้าที่สวมสายสะพายนั้น อาจหมายถึง เจ้าชายออเรนจ์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้นำกองทหารอังกฤษคนสำคัญที่เข้าร่วมรบจนได้รับชัยชนะ และต่อมาได้กลายมาเป็นกษัตริย์เนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ "จิตรกรรฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" อธิบายว่า มีความเป็นไปได้ว่าภาพบุรุษผู้นี้ยังอาจหมายถึง Duke of Wellington ที่ 1 (Arthur Wellesley) จอมพลแห่งกองทัพอังกฤษ ผู้บัญชาการสูงสุดในยุทธการวอเตอร์ลู หลังจากได้รับชัยชนะที่วอเตอร์ลู เขาได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของชาติ กระทั่งต่อมาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัยในช่วงทศวรรษที่ 1820 และ 1830 ส่วนภาพอาคารที่เป็นฉากหลังทางด้านซ้าย น่าจะหมายถึง Apsley House ทำเนียบของเขา ซึ่งตั้งอยู่ติดกับประตูทางเข้าหลัก (The Grand Entrance) ของสวนสาธารณะ Hyde Park ซึ่งในจิตรกรรมก็วาดภาพประตูทางเข้านี้ไว้อยู่เคียงข้างกันด้วย อาคารทั้งสองนี้ยังคงอยู่สืบมาถึงปัจจุบัน ภาพ Apsley House นี้ แม้จะไม่ได้ตรงกับรูปลักษณ์จริงอย่างถูกต้องทุกส่วน แต่ผู้วาดภาพได้พยายามวาดให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของอาคารหลังนี้ด้วยการระบายสีอาคารให้มีสีส้มอมแดง เพื่อให้ตรงกับสภาพจริงของอาคารที่มีการบุด้วยหิน Bath stone ซึ่งเป็นหินที่มีสีส้มอมแดง(สีน้ำผึ้ง) จนถือเป็นเอกลักษณ์ของหินชนิดนี้
ดังนั้นภาพจิตรกรรมตอนนี้ จึงเป็นการสื่อถึงการเดินทางกลับมาอังกฤษของ Duke of Wellington และขบวนทหารม้า พร้อมกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในสงครามวอเตอร์ลู ซึ่งเกิดขึ้นที่ "สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์" (ต่อมาในภายหลังได้มีการแบ่งแยกประเทศใหม่ ทำให้พื้นที่วอเตอร์ลูในปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม) โดยสื่อความหมายด้วยภาพอาคารที่ปักธงชาติเนเธอร์แลนด์ทางด้านขวา อันเป็นต้นทางของขบวนม้า และมีจุดหมายปลายทางที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษที่อยู่ทางด้านซ้าย โดยสื่อด้วยภาพ Apsley House และประตู Hyde Park ซึ่ง ณ บริเวณนี้ ต่อมาทางการอังกฤษยังได้สร้างประตูชัย (Wellington Arch) เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของ Duke of Wellington ด้วย
(ที่มาภาพ: มิวเซียมเพรส และ www.google.com/maps)
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นอื่นๆ ได้ใน "จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส