ปลูก “ต้นตาล” รอบ “นครวัด” สร้างเมืองพระอินทร์
นครวัด คือปราสาทหินขนาดใหญ่ 5 ยอด สร้างขึ้นเนื่องในศาสนสถานฮินดู ไวษณพนิกาย ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 พุทธศตวรรษที่ 17 อย่างไรก็ตาม ต่อมาหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 ศาสนาฮินดูในรัฐเขมรโบราณได้ลดความนิยมลง โดยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้เจริญขึ้นแทนที่ ทำให้ในช่วงเวลานี้ นครวัดได้ถูกปรับแปรจากเทวสถานมาเป็นพุทธสถานตามแนวคิดศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไป
ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “พระอินทร์ในคติพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พบในงานศิลปกรรมไทย” ว่า นครวัดซึ่งถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นพุทธสถานนี้ ได้ถูกนิยามความหมายใหม่ให้สอดรับกับคติพุทธศาสนา โดยเปรียบให้เป็นดั่งเวชยันตปราสาทในสุทัสสเทพนครของพระอินทร์ ซึ่งตั้งอยู่บนสวรรค์ดาวดึงส์ ดังปรากฏเนื้อหาอยู่ในวรรณกรรมเขมรโบราณที่แต่งเมื่อ พ.ศ.2163
สุทัสสเทพนครของพระอินทร์แห่งนี้ ตามคัมภีร์โลกบัญญัติและไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ได้อธิบายว่า เป็นเมืองถูกล้อมรอบไปด้วยต้นตาล มีใบเป็นดั่งใบแก้วใบทอง เมื่อต้องลมแล้วจักเกิดเสียงอันไพเราะ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงน่าจะมีการปลูกต้นตาลล้อมรอบนครวัดไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างสัญลักษณ์และความหมายให้สอดรับกับภูมิสัณฐานของสุทัสสเทพนคร ดังนั้นนครวัดในช่วงเวลานี้จึงเป็นเสมือนภาพจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนโลกมนุษย์
ต้นตาลรอบนครวัดเหล่านี้ได้อยู่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำหนึ่งของนครวัด
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง พระอินทร์ในคติพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พบในงานศิลปกรรมไทย โดย ศรัณย์ มะกรูดอินทร์