“ผังกรมนริศ” ระบุ “รูปสัตว์รอบเจดีย์วัดบวร” สื่อ 4 ทวีปใหญ่ของโลก
ในสมัยรัชกาลที่ 3-4 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำสยามที่สำคัญประการหนึ่งคือ การหันมาให้ความสนใจกับความจริงเชิงประจักษ์หรือ “โลกแห่งความเป็นจริง” ตามแบบชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น แทนความเชื่อดั้งเดิมอย่างเรื่องเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลแบบคติไตรภูมิ โลกทัศน์ใหม่นี้สะท้อนผ่านศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น จิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น
ดร.สุรชัย จงจิตงาม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายไว้ในหนังสือ “จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์” ว่า ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ 3-4 คือ การสร้างเจดีย์ประธานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างขึ้นโดยรัชกาลที่ 4 ซึ่งแต่เดิมคติการสร้างเจดีย์ จะมีความหมายสื่อแผนผังจักรวาลแบบจารีต โดยมีเจดีย์สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล แต่เจดีย์วัดบวรนิเวศแห่งนี้ มีการพยายามสื่อความหมายของจักรวาลตามโลกทัศน์แบบใหม่ ด้วยการสร้างประติมากรรมรูปสัตว์ 4 ชนิด ประดับล้อมรอบเจดีย์ ประกอบด้วย ทิศเหนือ รูปนกอินทรี ทิศตะวันออก รูปช้าง ทิศใต้ รูปสิงโต และทิศตะวันตก รูปม้า ซึ่งทั้งหมดหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2395
ดร.สุรชัย จงจิตงาม อธิบายว่า จากแผนผังเก่าแก่ ซึ่งเขียนผังของเจดีย์ประธาน วัดบวรนิเวศฯ ที่พบในตำหนักปลายเนินของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ชี้ให้เห็นว่ามีการตั้งใจให้รูปสัตว์เหล่านี้สื่อถึงทวีปใหญ่ 4 ทวีปที่รายล้อมโลกอยู่ โดยในแผนผังได้มีการกำกับชื่อทวีปเป็นภาษาอังกฤษอยู่ใต้ชื่อรูปสัตว์ต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
ทิศเหนือ รูปนกอินทรี “america”
ทิศตะวันออก รูปช้าง “asia”
ทิศใต้ รูปสิงโต “africa”
ทิศตะวันตก รูปม้า “Europe”
การกำหนดให้รูปสัตว์เหล่านี้ สื่อถึงทวีปต่างๆ ของโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจดีย์แห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยความหมายตามโลกทัศน์ใหม่ เพื่อสื่อถึงแผนผังจักรวาลหรือโลกตามภูมิศาสตร์จริง แทนแผนผังจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุที่เคยเชื่อกันมาก่อนหน้านั้น
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นอื่นๆ ได้ใน "จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส