แรกเริ่มเดิมที เตรียมวาดภาพ “จอมเจดีย์” ไว้ที่พระที่นั่งบรมพิมาน
ที่ผนังด้านในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ มีภาพวาดรูปเจดีย์จำนวน ๘ องค์ ซึ่งเป็นเจดีย์สำคัญที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของไทย หรือที่มักเรียกกันว่าภาพ “จอมเจดีย์ทั้ง ๘” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้คัดเลือกขึ้น ประกอบด้วย
1.พระปฐมเจดีย์ นครปฐม
2.พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
3.พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
4.พระธาตุพนม นครพนม
5.พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง สุโขทัย
6.พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
7.เจดีย์วัดช้างล้อม สุโขทัย
8.เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา
ภาพเหล่านี้ มักได้รับการตีความว่า เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอำนาจของสยามที่ครอบคลุมเหนือมณฑลต่างๆ ที่เจดีย์เหล่านี้ตั้งอยู่ โดยมีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลางของอำนาจ
อย่างไรก็ตาม รศ.สมคิด จิระทัศนกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “งานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยฝีพระหัตถ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” ว่า เดิมทีชุด “จอมเจดีย์” นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้กำหนดขึ้นมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๔๕๙ แล้ว โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้นำมาวาดขึ้นที่วัดเบญจมบพิตรฯ แต่อย่างใด หากทรงคัดเลือกขึ้นเพื่อเตรียมวาดไว้ที่เพดานโดมของพระที่นั่งบรมพิมาน โดยทรงคัดเลือกเจดีย์สำคัญองค์ต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนของมณฑลต่างๆ ของสยาม จำนวนทั้งสิ้น ๑๐ องค์
กระทั่งต่อมาในราวทศวรรษที่ 2480 พระพรหมมุนี วัดเบญจมบพิตรฯ เห็นว่า ผนังช่องหน้าต่างภายในของอุโบสถ ซึ่งเดิมมีแผนว่าจะวาดภาพพระอัครสาวก ตามการออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ยังไม่ได้รับการดำเนินการใดๆ จึงได้ติดต่อไปยังพระยาอนุมานราชธนในฐานะอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ให้ดำเนินการกราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ทรงพระกรุณาเขียนภาพดังกล่าวที่ค้างอยู่ แต่พระยาอนุมานราชธนเห็นว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงพระชรามากแล้ว จึงไม่ได้กราบทูล จนในที่สุดจึงได้มีการเสนอให้วาดภาพจอมเจดีย์จำนวน ๘ แห่ง จาก ๑๐ แห่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยกำหนดขึ้นมาก่อนหน้านี้แทน และได้ดำรงสืบมาถึงปัจจุบัน