“ความตายที่ไม่ตาย” กองทัพทหารดินเผา ยิ่งใหญ่ มหาศาล

“ความตายที่ไม่ตาย” กองทัพทหารดินเผา ยิ่งใหญ่ มหาศาล

“ความตายที่ไม่ตาย” กองทัพทหารดินเผา ยิ่งใหญ่ มหาศาล
  
            ประเทศจีนปรากฏร่องรอยพิธีปฏิบัติต่อผู้ตายมานานเป็นเวลานับหมื่นปีมาแล้ว ที่เห็นได้ชัดก็คือ การฝังร่างผู้ตายลงไปพร้อมกับ "หมิงฉี้" หรือสิ่งของและคนรับใช้ที่อุทิศถวายให้ สะท้อนให้เห็นว่ามีระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม ทั้งยังแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย
           สำหรับสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซี ผู้รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นเป็นครั้งแรก เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ เป็นผลงานการสร้างของกษัตริย์ที่แข็งแกร่ง เผด็จการ แต่ในขณะเดียวกันก็สะทกสะท้านต่อความตาย พระองค์ถึงกับมีรับสั่งให้กองเรือออกไปแสวงหาสมุนไพร่ที่ใช้เป็นอายุวัฒนะ แต่ก็ไม่มีผู้ใดเดินทางกลับมาถวายยาที่พระองค์ต้องการได้เลย
            ในระหว่างที่ยังรอหาวิธีทำให้ชีวิตเป็นอมตะอยู่นั้น พระองค์ก็ได้จัดสร้างสุสานของพระองค์เองไปพร้อมๆ กันด้วย โดยกวาดต้อนแรงงานเชลยศึกและผู้คนจำนวนมาก มาสร้างสุสานซึ่งตั้งอยู่ระหว่างภูเขา Lishan และแม่น้ำ Weihe (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานสี ห่างจากเมืองซีอานประมาณ ๓๕ กิโลเมตร)
            สุสานมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก ศูนย์กลางของสุสานซึ่งเป็นที่ฝังพระศพจักรพรรดิเป็นเนินดินขนาดใหญ่สูงราว ๕๐ เมตร เป็นเหมือนเนินเขาธรรมชาติ แต่สร้างด้วยแรงคนทั้งหมด ด้านบนเป็นสี่เหลี่ยม ด้านหน้ามีอาคารและแท่นบวงสรวงที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง ส่วนบริเวณรอบๆ เนินเขาแห่งนี้ คาดว่ามีประติมากรรมทหารดินเผาแวดล้อมเป็นเสมือนทหารเฝ้าสุสานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งถูกค้นพบแล้วทางด้านตะวันออก ซึ่งต่อมาได้สร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้นไว้และเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมในปัจจุบัน
      เอกสารโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ อธิบายว่าสุสานแห่งนี้อยู่ลึกลงไปจากพื้นดิน มีความแข็งแรง รองรับด้วยหิน และมีกำแพงหินกั้นน้ำใต้ดิน เป็นเสมือนพระราชวังขนาดใหญ่ที่มีสมบัติมีค่ามากมาย มีการจุดตะเกียงจากไขมันปลาทะเลตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่รอบนอกของสุสานยังมีคูน้ำที่บรรจุ “ปรอท” กั้นไว้โดยรอบ มีจิตรกรรมภาพเทวดาวาดไว้ที่เพดาน ส่วนผนังด้านอื่นๆ เป็นภาพภูเขาและแม่น้ำ และที่สำคัญยังมีธนูกลคอยทำร้ายผู้บุกรุกเข้าไปภายในสุสานด้วย แต่เท่าที่ผ่านมาสุสานแห่งนี้ก็เคยถูกบุกเข้าไปบางส่วนแล้ว โดยในราวพุทธศตวรรษที่ ๔ ได้มีกองทหารขุดเข้าไปนำสมบัติบางส่วนออกมา จากนั้นก็ได้จุดไฟเผาไหม้อยู่ต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาถึง ๓ เดือน จากนั้นก็เกิดไฟไหม้อีกครั้ง และอีกหลายร้อยปีต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็มีทหารเข้าไปกวาดข้าวของออกมาอีก
    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ขณะที่ชาวบ้านกำลังช่วยกันขุดดินเพื่อทำบ่อน้ำมาหลายวัน และในวันที่ ๕ ของการขุดบ่อน้ำ พวกเขาก็เริ่มประหลาดใจและท้อใจไปพร้อมๆ กัน เพราะได้ขุดลงไปเจอหิน ซึ่งแม้จะขุดลึกลงไปหลายเมตรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ผ่านชั้นหินนี้เสียที จนเมื่อขุดลงไปลึกราว ๔ เมตร พวกเขาก็ได้พบชิ้นส่วนของทหารดินเผา รวมทั้งหัวธนู หอก และพื้นอิฐสีน้ำเงิน
  จากนั้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้นเอง นักโบราณคดีและนักวิชาการได้เริ่มเข้ามาขุดค้นและศึกษา ทำให้พบว่าเป็นพื้นที่ตั้งประติมากรรมทหารและม้าดินเผาจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นส่วนประกอบด้านทิศตะวันออกของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีเท่านั้น  
    ปัจจุบันมีหลุมขุดค้นขนาดใหญ่ ๓ หลุม และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒
             
 
อ้างอิง
-          Luo Zhewen. China’s Imperial Tombs and Mausoleums (Beijing: Foreigh Languages Press, 1993).
-          Tony Allan. The Archaeology of the Afterlife (London: Duncan Baird Publishers, 2004).
-          China Nationality Art Photograph Publishing House. Terra-cotta Warriors and Houses, 1994.
-          รศ.มาลินี คัมภีรญาณนนท์. แลหลังภาพชีวิตชาวจีนจาก “หมิงฉี้” ดำรงวิชาการ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓, ๒๕๔๖.

 

ก่อนชมหลุมขุดค้น จะมีห้องฉายภาพยนตร์จอ 360 องศา นำเสนอประวัติความเป็นมาของสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี มีรอบบรรยายจีน และอังกฤษ สลับกันไป
อาคารที่สร้างขึ้นคลุมหลุมขุดค้นที่ 1 จะเห็นว่ามีขนาดใหญ่มาก ยาว 230 เมตร กว้าง 62 เมตร ในหลุมนี้พบทหารดินเผา 6,000 ตัว และรถม้าอีก 24 คัน 
 
ที่ปากประตูหลุมขุดค้นที่ 1 จะมีแบบจำลองสุสาน ซึ่งสร้างขึ้นบนฮวงจุ้ยที่ดี มีเขา มีน้ำ ซึ่งจะเห็นว่ามีพื้นที่กว้างขวางมาก โดยจุดที่มีการขุดค้นพบทหารดินเผานี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณสุสาน หรือแค่ชายขอบของสุสาน ส่วนศูนย์กลางของสุสาน ซึ่งเป็นสถานที่ฝังพระศพจักรพรรดิ ตั้งอยู่ไกลจากจุดนี้ไปอีก

ภายในหลุมขุดค้นที่ 1 กว้างใหญ่มาก บรรยากาศคล้ายสถานีรถไฟหัวลำโพง จะเห็นหลุมขุดค้นที่ยังคงค้างไว้อยู่ ทางการจีนอธิบายว่า การขุดค้นต้องทำอย่างละเอียดและค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าหลังจากการนำโบราณวัตถุขึ้นมาจากหลุม โบราณวัตถุหลายชิ้นไม่สามารถปรับสภาพจากเดิมที่เคยอยู่ใต้ดินมานานนับพันปี ต้องขึ้นมาอยู่ในสภาพอากาศใหม่ๆ ทำให้ผุพังสูญสลายไปหลายชิ้น
 
บริเวณด้านหน้าของหลุมขุดค้นที่ 1 หลังจากเดินผ่านประตูอาคารเข้ามาก็จะพบเหล่าทหารดินเผายืนเรียงรายประจันหน้าอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดยอดนิยมที่มารุมล้อมถ่ายภาพกันมากที่สุด

ประติมากรรมดินเผา ที่มีรูปร่างสมบูรณ์ชิ้นหนึ่ง ทางการจีนนำมาจัดแสดงไว้ในตู้กระจก ในอาคารหลุมขุดค้นที่ 3 เดิมในมือเคยถืออาวุธ  
เดิมเมื่อหลายพันปีก่อนนอกจากจะสร้างบ้าน พระราชวัง และสิ่งของเครื่องใช้นำไปไว้ในสุสานแล้ว ยังมีการสังหารคนและฝังลงไปด้วย จนต่อมาขงจื่อได้เริ่มโจมตีการฆ่าคนเพื่อการนี้อย่างรุนแรง ทำให้ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้ประติมากรรมที่ทำด้วยไม้แทน เริ่มจากการทำมีขนาดเล็กก่อน จนถึงสมัยจักรพรรดิจิ๋นซีที่ถือว่ามีความยิ่งใหญ่ที่สุด แต่จากนั้นมาก็กลับสร้างขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และหมดความนิยมในสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓)
 
ภาพนิทรรศการในหลุมขุดค้น แสดงให้เห็นว่าเดิมทหารดินเผาเหล่านี้เคยถูกระบายสีมาก่อน ทั้งสีแดง เหลือง เขียว น้ำเงิน ดำ ขาว ม่วง น้ำตาลแดง สีเหล่านี้มาจากแร่ธรรมชาติ แต่หลังจากนักโบราณคดีลอกดินออกแล้วนำขึ้นมาสัมผัสสภาพอากาศภายนอก สีเหล่านี้ก็จางไป

จากการขุดค้นพบว่า บรรดาทหารดินเผาที่ตั้งเรียงรายจำนวนมากนี้ เดิมมีซุงวางพาดปิดด้านบนไว้เหมือนหลังคาอยู่ทั่วพื้นที่ ทุกวันนี้ยังสามารถเห็นซุงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ปิดทับอยู่ด้านบน
 
 ส่วนหัวของธนูที่ขุดพบในสุสาน นิยมทำด้วยสำริด ดีบุก ทองแดง ฯลฯ บางชิ้นเคลือบด้วยโครเมี่ยมเพื่อป้องกันสนิม

รถม้าสำริด มีขนาดเล็กกว่าของจริงครึ่งหนึ่ง จัดแสดงในอาคารนิทรรศการ สภาพเดิมที่พบในหลุมขุดค้นมีสภาพปรักหักพังมาก แต่ทางการจีนนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบขึ้นใหม่
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้