ที่มา-วัดเบญจมบพิตร วัดชุมชนชาวล้านนาในกรุงเทพ

ที่มา-วัดเบญจมบพิตร วัดชุมชนชาวล้านนาในกรุงเทพ

ที่มา-วัดเบญจมบพิตร วัด “ชุมชนชาวล้านนา” ในกรุงเทพ

                 กล่าวกันว่าวัดเบญจมบพิตร เป็นวัดที่มีพระสงฆ์เชื้อสายล้านนามาจำพรรษาอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ  รวมทั้งยังเป็นวัดที่มีญาติโยมชาวล้านนาเข้ามาอุปถัมภ์มากที่สุดแห่งหนึ่งด้วยเช่นกัน จนอาจถือเป็นชุมชนชาวเหนือที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
                ผศ.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว อธิบายว่า สายสัมพันธ์ระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับชาวเหนือ มีที่มาซึ่งสามารถย้อนไปไกลถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สยามหรือกรุงรัตนโกสินทร์กำลังพยายามรวบรวมหัวเมืองล้านนาให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของตนอย่างเด็ดขาด ตามรูปแบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีหลักคิดว่ารัฐจะต้องมีขอบเขตที่แน่นอน และมีอำนาจรวมศูนย์หนึ่งเดียวอยู่ที่ส่วนกลาง หลังจากที่ก่อนหน้านี้หัวเมืองต่างๆ ดำรงอยู่ในฐานะ “ประเทศราช” ซึ่งมีอิสระในการปกครองตนเอง
                เครื่องมืออย่างหนึ่งของกระบวนการผนวกรวมล้านนาให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของสยามคือ การดำเนินการผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันที่วางรากฐานความคิด และสถาบันศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันทางจิตวิญญาณ ที่ใกล้ชิดกับประชาชน รวมทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการด้านการศึกษาด้วย
                ผศ.เนื้ออ่อน อธิบายว่า ในช่วงเวลานั้นรัฐสยามได้พยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษาเล่าเรียน เพื่อปลูกฝังความคิดเรื่องรัฐชาติใหม่ที่มีกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการปกครองสงฆ์ล้านนาให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของมหาเถรสมาคม และดำเนินการเผยแพร่พุทธศาสนาธรรมยุติกนิกาย ซึ่งเป็นแนวทางแบบใหม่และได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำของกรุงเทพฯ ขณะที่ชาวล้านนาทั่วไปยึดถือแนวทางมหานิกาย
     การเผยแพร่นิกายแบบใหม่นี้ นำโดยพระสงฆ์รูปหนึ่ง นามว่า “พระมหาคำปิง” แห่งวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากทางการให้ไปบวชแปลงเป็นธรรมยุติกนิกายที่วัดบวรนิเวศ และเข้าศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสายธรรมยุติกนิกายที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาพระมหาคำปิงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระนทีสีพิศาลคุณ พระราชาคณะธรรมยุต ทำหน้าที่ดูแลจัดการสงฆ์ในล้านนา รวมถึงจัดส่งพระเณรรุ่นใหม่ๆ ให้ไปศึกษาเล่าเรียนที่วัดธรรมยุติกนิกายในกรุงเทพฯ
                อย่างไรก็ตามการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันสงฆ์ในล้านนา และการเผยแพร่แนวทางธรรมยุตินิกายแบบใหม่นี้ ได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ยอมรับจากคณะสงฆ์มหานิกายที่มีอยู่เดิมของล้านนา  จนกระทั่งต่อมาทางการกรุงเทพฯ จึงได้ตัดสินใจส่ง “พระธรรมวโรดม” เจ้าคณะรองฝ่ายใต้วัดเบญจมบพิตร พระสงฆ์ผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับล้านนา ขึ้นมาเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ เพื่อดูแลจัดการปัญหาต่างๆ ให้คลี่คลายลง โดยพระธรรมวโรดม ได้จัดการแบ่งหน้าที่ของผู้นำสงฆ์ทั้งสองนิกายให้ชัดเจน โดยแต่งตั้งให้ครูบาวัดฝายหิน(พระอภันสารทะสังฆปาโมกข์) สังฆนายกเมืองเชียงใหม่ เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองเชียงใหม่ ดูแลมหานิกาย และเป็นผู้สอนพระสงฆ์ตามแบบพื้นเมือง ส่วนพระมหาคำปิง(นพีสีพิศาลคุณ) สอนปริยัติธรรมธรรมยุตตามแบบกรุงเทพฯ
    ต่อมาพระนพีสีพิศาลคุณได้ขอลาสิกขา ทำให้การเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายที่เมืองเชียงใหม่ได้ชะงักลง ส่งผลให้สายสัมพันธ์ของสงฆ์ล้านนากับกรุงเทพฯ หันมารวมอยู่ที่พระธรรมวโรดม สงฆ์ผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกายจากวัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับพระล้านนาทั่วไป โดยหากมีการส่งพระสงฆ์ล้านนาให้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ก็มักส่งมาเรียนและจำพรรษาที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นวัดต้นสังกัดของพระธรรมวโรดม จนเมื่อเรียนจบกลับไป ก็ส่งลูกศิษย์รุ่นต่อมาไปเรียนที่วัดเบญจมบพิตรจากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย กระทั่งความสัมพันธ์นี้สืบมาจนถึงทุกวันนี้
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน วิทยานิพนธ์เรื่อง “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417 – 2476” ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยโดย ผศ.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
   
              

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้