ทฤษฎีปฏิมา ว่าด้วยการจำลองพระพุทธรูป
“ทฤษฎีปฏิมาวิทยา” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากข้อสังเกตของนายกริสโวลด์ และต่อมา ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้นำมาปรับปรุงแล้วเสนอเป็นทฤษฎีขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษารูปแบบพระพุทธรูปในประเทศไทย
ทฤษฎีนี้ถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่ควรได้รับการนำมาพิจารณาศึกษาและถกเถียงกันต่อไป เพื่อประโยชน์ต่อวงวิชาการ
ทฤษฎีนี้ อธิบายว่า พระพุทธรูปโบราณจำนวนมากที่พบในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นจากการ “จำลอง” พระพุทธรูป “องค์สำคัญ” ของกลุ่มชนในยุคนั้นๆ โดยมักสร้างจำลองให้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปต้นแบบมากที่สุด เพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ และตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังคงมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธรูปต้นแบบองค์นั้นๆ อยู่ การจำลองก็ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ฉะนั้นในทฤษฎีนี้จึงเชื่อว่า พระพุทธรูปที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกัน อาจเกิดขึ้นจากการจำลองพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งในยุคนั้นๆ ซึ่งอาจได้รับการจำลองสืบเนื่องต่อมาเป็นระยะเวลานานหลายยุคหลายสมัย ทำให้พระพุทธรูปจำลอง ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนกับต้นแบบอาจจะสร้างขึ้นห่างจากต้นแบบหลายร้อยปีก็เป็นได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือ การจำลองพระพุทธสิหิงค์หรือ “พระสิงห์” ของล้านนานั่นเอง
สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่
“The replication theory : A new approach to Buddha image iconography” the tenth international conference on thai studies,2008 โดย อ.พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รากเหง้าแห่งศิลปะไทย โดย รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์