“อภิจาริกะ” คติการถวายเครื่องทรงเทวรูป ก่อนออกทำศึก
การบูชาพระวิษณุหรือพระนารายณ์ในไทย ได้รับการยกย่องนับถืออย่างโดดเด่นมาเป็นเวลานานแล้ว นักวิชาการอธิบายว่ารูปเคารพพระวิษณุในยุคสมัยต่างๆ มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามรสนิยมท้องถิ่นผสมผสานกับอิทธิพลจากศูนย์กลางอารยธรรมสำคัญ เช่น อินเดีย และ เขมรโบราณ
รูปเคารพพระวิษณุในยุคสมัยต่างๆ ส่วนใหญ่แล้ว นิยมสร้างขึ้นโดยออกแบบให้มีเครื่องประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แต่ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่สร้างขึ้นอย่างเรียบๆ ไม่มีการสลักหรือประดับตกแต่งเครื่องทรงใดๆ เป็นพิเศษบนองค์เทวรูป เช่น เทวรูปพระวิษณุสลักด้วยหิน ซึ่งพบจำนวนหนึ่งในภาคกลางและภาคใต้ของไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ จนทำให้เป็นที่สงสัยกันว่า ช่างโบราณมีเหตุผลในการสร้างอย่างไร?
อาจารย์เอกสุดา สิงห์ลำพอง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ “เทวปฏิมาสยาม” ว่า เทวรูปพระวิษณุสลักด้วยหินกลุ่มนี้ อาจสร้างขึ้นตามรูปแบบที่เรียกว่า “อภิจาริกะ” ซึ่งในคัมภีร์อินเดียระบุว่า สร้างขึ้นเพื่อให้กษัตริย์ทำพิธีสวมเครื่องประดับให้กับเทวรูป เป็นการบูชาอันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล ก่อนออกทำศึกสงคราม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า เทวรูปในไทยกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับคติ “อภิจาริกะ” นี้หรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ว่า เทวรูปที่ไม่มีการสลักเครื่องประดับกลุ่มนี้ คงมีการบูชาด้วยการถวายเครื่องประดับจริงๆ แขวนหรือติดอยู่บนองค์เทวรูป แทนการสลักลงไปบนเนื้อหิน
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีก ใน
“เทวปฏิมาสยาม” โดย อาจารย์เอกสุดา สิงห์ลำพอง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส