“พระหันหลังชนกัน” - ร่องรอยเมืองเหนือ ที่วัดวรเชตุฯ อยุธยา
ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องวัดวรเชตุเทพบำรุงฯ สรุปได้ว่า วัดวรเชตุเทพบำรุง ซึ่งเป็นวัดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก นอกเกาะเมืองอยุธยา น่าจะได้รับการสร้างขึ้นมาแล้วตั้งแต่ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 21 และต่อมาได้รับการบูรณะสร้างเสริมครั้งใหญ่ในในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22 (หรือในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ – สมเด็จพระเอกาทศรถ)
จากการศึกษาของ ดร.ประภัสสร์ พบว่าในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นี้ อาจทำขึ้นด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคืออาจใช้ช่างจากหัวเมืองเหนือมาดำเนินการก่อสร้างหรืออาจเป็นช่างอยุธยาที่เคยเกี่ยวข้องกับช่างเมืองเหนือมาก่อน เนื่องจากพบว่าอาคารที่สร้างขึ้นในการบูรณะครั้งนี้ มีร่องรอยของศิลปะเมืองเหนืออย่างเด่นชัดและมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น
- “พระหันหลังชนกัน” พระประธาน จำนวน 4 องค์ในอุโบสถ (ปัจจุบันพังทลายไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงส่วนพระเพลา) คล้ายกับที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน ,วัดในศิลปะพุกาม พม่า และพระสี่อิริยาบถ สุโขทัย
- การเหลื่อมท้องไม้ของฐานบัวลูกฝัก ของพระปรางค์ประธาน คล้ายกับเจดีย์ทางเหนือ
- เจดีย์ทรงปราสาท อิทธิพลล้านนา
- การประดับปูนปั้นลวดลาย “มังกร” และลวดลายแบบจีน ที่มักพบในล้านนา
- ซุ้ม ก่ออิฐเป็นโค้งแหลม คล้ายกับวิธีของล้านนา
ดร.ประภัสสร์ อธิบายว่า ร่องรอยของศิลปะเมืองเหนือที่ปรากฏที่วัดวรเชตุฯ อาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างอยุธยากับหัวเมืองเหนือในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22 หรือเหตุการณ์ในช่วง พ.ศ.2127 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่มีการเทครัว เกณฑ์คนจากเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และพิษณุโลกมาอยุธยา ซึ่งน่าจะมีช่างเข้ามาด้วยก็เป็นได้
ส่วนประเด็นความเชื่อเดิม ที่อธิบายกันว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เพื่ออุทิศถวายสมเด็จพระนเรศวรนั้น แม้หลักฐานด้านศิลปกรรมจะมีอายุสอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าวนี้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานระบุได้อย่างแน่ชัด โดยเฉพาะหลักฐานด้านเอกสาร และพงศาวดาร