ทวารวดี จำลอง “สถานที่ปฐมเทศนา” ไว้ที่นครปฐม
เดิมมีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่า โบราณสถานวัดพระเมรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี อาจสร้างขึ้นโดยเลียนแบบมาจาก “โสมปุระ” มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งสำคัญ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยปาละ
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า โบราณสถานวัดพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานเท่านั้น น่าจะสร้างขึ้นเลียนแบบหรือจำลองแบบมาจาก “มูลคันธกุฎี” เมืองสารนาถ อินเดีย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เชื่อว่าสร้างขึ้นบนจุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยคุปตะ โดยปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงส่วนฐาน แต่คาดว่าเดิมคงมีส่วนยอดเป็นแบบศิขระ คล้ายกับยอดของพุทธคยา
รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ให้เหตุผลต่อข้อสันนิษฐานข้างต้นไว้ สรุปได้ดังนี้
1 โบราณสถานวัดพระเมรุ มีแผนผังที่มีมุขสั้นๆ ยื่นออกไปทั้ง 4 ด้าน คล้ายคลึงกับมูลคันธกุฎีมากกว่าที่โสมปุระ ซึ่งมีมุขทั้ง 4 ด้านยื่นยาวออกไปมากกว่า จนมีแผนผังแบบกากบาทที่ชัดเจนกว่า
2 ที่มุขทั้ง 4 ด้านของโบราณสถานวัดพระเมรุ เดิมน่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงปางปฐมเทศนา รวมจำนวน 4 องค์ (พระพุทธรูปเหล่านี้ปัจจุบัน ประดิษฐานกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ นั่นคือ โบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ , ลานพระปฐมเจดีย์, พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑ์ พระนคร) การประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทนี้ เป็นคติที่เหมือนกับที่มูลคันธกุฎี ซึ่งมีหลักฐานว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท แสดงปางปฐมเทศนาเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจึงคาดว่า ในสมัยทวารวดีน่าจะมีคติที่ให้ความสำคัญต่อ “การปฐมเทศนา” เป็นพิเศษ ซึ่งสอดรับกับการพบ “ธรรมจักร+กวางหมอบ” โบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่สื่อถึงการปฐมเทศนาจำนวนหลายชิ้น ที่พบทั้งในนครปฐมและเมืองโบราณใกล้เคียง ซึ่งน่าจะมีการศึกษาต่อไปว่า เหตุใดทวารวดีจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการปฐมเทศนา