หลวงพ่อโสธร ทำจากหินทราย สมัยอยุธยาตอนต้น
พระพุทธโสธร หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อโสธร” ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดองค์หนึ่งของไทย
โดยประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อโสธรนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างขึ้นเมื่อใด มีเพียงตำนานปรัมปราเล่าว่า หลวงพ่อโสธรมีที่มาจากการลอยน้ำมาอย่างปาฏิหาริย์ พร้อมกับพระพุทธรูปอีก ๒ องค์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพี่น้องกัน คือ หลวงพ่อบ้านแหลม สมุทรสงคราม และ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ สมุทรปราการ
แต่จากการบูรณะองค์พระพุทธรูปโดยกรมศิลปากรเมื่อหลายปีก่อนพบว่า หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากหินทราย ๘ ชิ้น ประกอบเข้าด้วยกัน แล้วปั้นปูนพอกทับและลงรักปิดทอง
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อธิบายประเด็นนี้ไว้ในหนังสือเรื่องพระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ว่า เทคนิคการสร้างพระพุทธรูปจากหินทรายหลายชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วพอกปูนทับเช่นนี้ เป็นวิธีการสร้างที่พบมากในสมัยอยุธยาตอนต้น ดังนั้นจึงทำให้คาดได้ว่า หลวงพ่อโสธรน่าจะสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับพุทธศิลป์ของหลวงพ่อโสธรที่มีรูปแบบเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้นทั่วไป นั่นคือ พระพักตร์เคร่งขรึม สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่และยางลงมาจรดพระนาภี ซึ่งทั้งหมดเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร