ชมภาพจำลอง พุทธจิตรกรรม 600 ปี “เก่าแก่ที่สุด” ในล้านนา
จิตรกรรมในพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในศิลปะล้านนา เท่าที่พบในปัจจุบันคือ จิตรกรรมภายในกรุเจดีย์วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกพบหลังจากมีการลักลอบขุดกรุของเจดีย์เมื่อหลายสิบปีก่อน โดยจากการศึกษาของนักวิชาการพบว่ามีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หรือราว 600 ปีมาแล้ว
ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตรกรรมล้านนา ได้เคยเข้าสำรวจจิตรกรรมในกรุเจดีย์แห่งนี้ เมื่อ พ.ศ.2538 ก่อนที่ต่อมาใน พ.ศ.2546 กรุจะถูกปิดลง ผศ.ดร.สุรชัย อธิบายว่าจิตรกรรมในกรุแห่งนี้ เป็นภาพอดีตพุทธเจ้าจำนวน 27 พระองค์ และพระพุทธเจ้าในปัจจุบันอีก 1 พระองค์ เรียงรายอยู่คล้ายกับจิตรกรรมภาพอดีตพุทธที่พบในสมัยอยุธยาตอนต้น ทั้งหมดเขียนด้วยลายเส้นสีแดงบนพื้นผิวทองคำเปลว ทว่าลายเส้นสีแดงเหล่านี้ได้ลบเลือนไปมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สุรชัย ได้ดำเนินการศึกษาจิตรกรรมในกรุแห่งนี้ โดยเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเก่าที่เคยถ่ายไว้ก่อนที่จิตรกรรมจะลบเลือนไปมาก แล้วสร้างภาพจำลองจิตรกรรมภายในกรุขึ้นมาใหม่ให้มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด จนทำให้จิตรกรรมภายในกรุชุดนี้เหมือนมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
ชมภาพจำลองและอ่านที่มาของการจำลองภาพจิตรกรรมภายในกรุเจดีย์วัดอุโมงค์ฯ ได้ในบทวามเรื่อง “จิตรกรรมเก่าแก่ที่สุดในศิลปะล้านนา: จิตรกรรมฝาผนังในห้องกรุเจดีย์วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เชียงใหม่” โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม ที่ภาพด้านล่างนี้ (ที่มาภาพ: ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม)
ภาพจำลองจิตรกรรมภายในกรุเจดีย์ วัดอุโมงค์ฯ เชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม |