“โถสุขภัณฑ์” ของสงฆ์ รุ่นแรกของโลกอายุพันปี พบที่ลังกาและไทย

“โถสุขภัณฑ์” ของสงฆ์ รุ่นแรกของโลกอายุพันปี พบที่ลังกาและไทย

“โถสุขภัณฑ์” ของสงฆ์ รุ่นแรกของโลกอายุพันปี พบที่ลังกาและไทย
            อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดีชำนาญการแห่งกรมศิลปากร เขียนอธิบายความรู้เกี่ยวกับ “ส้วม”ยุคโบราณของพระสงฆ์หรือที่เรียกว่า “วัจจกุฎี” ไว้ในบทความเรื่อง “วัจจกุฎีสมัยโบราณ : เขียงหินของศรีลังกาและไทย” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
            ตามพระวินัยที่ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก ระบุถึงระเบียบในการขับถ่ายของสงฆ์ไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีถ่ายของเสียในที่ที่จัดไว้ โดยทรงอนุญาตให้มี “เขียง” รองเท้าเพื่อการถ่ายของเสียจำนวน ๓ แบบด้วยกันคือ เขียงรองเท้าสำหรับถ่ายปัสสาวะ เขียงรองเท้าสำหรับถ่ายอุจจาระ และเขียงรองเท้าเพื่อใช้ชำระทำความสะอาด
            จากหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับวัจจกุฎีเท่าที่ค้นพบได้ในปัจจุบัน พบว่ามีการสร้างวัจจกุฎีรุ่นแรกๆ ในเมืองโบราณของลังกา สมัยอนุราธปุระเป็นต้นมา หรือราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว รวมทั้งพบ “เขียง”ตามที่ระบุไว้ในพระวินัย กระจายอยู่ตามพุทธสถานจำนวนมาก
            เขียงเหล่านี้ ทำขึ้นจากหิน พบทั้ง ๓ แบบ ตามที่ระบุไว้ในพระวินัย ฐานเหล่านี้ใช้สำหรับปิดปากหลุมอุจจาระหรือปัสสาวะ และใช้รองเท้าเพื่อชำระความสะอาด โดยเขียงแต่ละแบบจะตั้งอยู่ในห้องแยกออกจากกัน เป็นห้องปัสสาวะ ห้องอุจจาระ โดยรูปลักษณะของเขียงเหล่านี้จะแยกแตกต่างกันไปตามการใช้งานคือ
            เขียงสำหรับอุจจาระ จะมีหลุมขนาดพอเหมาะอยู่ตรงกลาง
            เขียงสำหรับปัสสาวะ จะมีแอ่งเล็กๆ อยู่ตรงกลาง และเจาะรูในแอ่งนั้น เพื่อระบายปัสสาวะลงด้านล่าง
            เขียงสำหรับชำระทำความสะอาด จะมีร่องระบายน้ำ ให้ไหลเป็นทางไปด้านหลัง ส่วนด้านหน้าจะมีหลุมทรงกลมเล็กๆ คาดว่าทำขึ้นเพื่อใช้วางภาชนะใส่น้ำสำหรับทำความสะอาด
            เขียงทุกแบบจะมีแท่นรองฝ่าเท้า ยกสูงขึ้นทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม หรือทำเป็นรูปรอยเท้า นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้หม้อดินเผา ๓ ใบซ้อนกัน ฝังไว้ใต้เขียง เพื่อรองรับน้ำปัสสาวะ ภายในหม้อบรรจุถ่านและทราย เพื่อกรองน้ำปัสสาวะไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ส่วนการที่ต้องทำแยกปัสสาวะกับอุจจาระออกจากกัน คงน่าจะมีที่มาจากว่า หากให้น้ำปัสสาวะไหลไปรวมกับอุจจาระแล้ว จะทำให้อุจจาระในหลุมด้านล่างแห้งช้า และจะทำให้ส่งกลิ่นเหม็นอย่างมาก
             สำหรับการทำแท่นฐานรองฝ่าเท้า เข้าใจว่าคงทำขึ้นเพื่อไม่ให้เท้าเปียกน้ำ สอดคล้องกับในพระวินัยที่ระบุว่าห้ามพระสงฆ์เหยียบเสนาสนะทั้งที่เท้าเปียก รวมทั้งอาจทำขึ้นเพื่อใช้เป็นที่หมายในการนั่งทำภารกิจก็เป็นได้
            ส่วนหลักฐานในไทย พบเขียงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยพบเก่าที่สุดในสมัยสุโขทัย ทำขึ้นจากหินเช่นเดียวกัน แต่นิยมทำเขียงแบบที่รวมประโยชน์ใช้สอยเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือในเขียงชิ้นหนึ่งจะมีทั้งรูอุจจาระและทำร่องที่ด้านหน้าให้น้ำปัสสาวะไหลไปอีกทางหนึ่ง
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือประกอบการสัมมนาเรื่อง ความสัมพันธ์ทางพุทธศาสน์และพุทธศิลป์ ระหว่างศรีลังกา พม่า และไทย จัดพิมพ์โดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ,มิถุนายน ๒๕๕๕

 












 

เขียงหินสำหรับปัสสาวะ พบที่อนุราธปุระ ลังกา    
 















                                  














Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้