ภาพสลักล้ำค่า สมัย "บูเช็กเทียน" ในพิพิธภัณฑ์โตเกียว
เมืองซีอาน ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของจีนติดต่อกันนานหลายราชวงศ์ รวมถึง “ราชวงศ์ถัง” ที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ ด้วย
สมัยราชวงศ์ถังเป็นยุคที่บ้านเมืองประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจการค้า ซึ่งมีทั้งการค้าทางบกที่มุ่งไปยังตะวันออกกลางและยุโรป และการค้าทางทะเลที่ติดต่อกับชุมชนริมฝั่งทะเลหลายแห่ง ทำให้มีการแลกเปลี่ยนด้านศิลปะวัฒนธรรมและศาสนาตามมา
กล่าวกันว่าในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นช่วงที่เปิดกว้างให้มีการศึกษาศาสนาและลัทธิต่างๆ เฉพาะพุทธศาสนาได้มีภิกษุเดินทางไปศึกษาถึงอินเดีย ที่รู้จักกันดีคือพระถังซัมจั๋ง นอกจากนี้เหล่านักปราชญ์และกษัตริย์ยังส่งเสริมให้มีการสร้างวัด แปลพระสูตรเป็นภาษาจีน และถือได้ว่าพุทธศาสนาสามารถปรับและหลอมเข้ากับวัฒนธรรมจีนที่มีพื้นฐานอยู่บนคำสอนตามหลักขงจื้อและเต๋าได้อย่างกลมกลืน
พุทธศาสนาที่เผยแผ่ในจีนยุคนั้น คือนิกายมหายาน ซึ่งมีแนวคิดสำคัญว่าพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในท้องทะเล แต่ละพระองค์มีพระเมตตาที่จะช่วยนำพาสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ โดยแต่ละพระองค์มีสภาวะที่เหนือกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป
วัดสำคัญแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ คือวัด Guangzhaisi ที่สร้างขึ้นในบริเวณที่อ้างว่ามีการพบพระบรมสารีริกธาตุ ที่นี่พระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้โปรดฯ ให้สลักภาพที่งดงามล้ำค่ามากชุดหนึ่ง เป็นภาพพระพุทธเจ้าในปางแสดงธรรมจำนวนมากมายหลายภาพ ซึ่งสื่อถึงการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ จำนวนมากมายดุจเม็ดทรายนั่นเอง กระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จึงมีการย้ายภาพสลักเหล่านั้นไปไว้ที่วัด Baoqingsi และวัดอื่นๆ บ้าง แต่ปัจจุบันภาพสลักส่วนหนึ่งถูกย้ายไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
สุมาลี มหณรงค์ชัย. พุทธศาสนามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๕๐.
------. พระชินพุทธห้าพระองค์ กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๔๗.
พระพุทธเจ้าศากยมุนีพร้อมสาวก |
พระพุทธเจ้าศากยมุนีพร้อมสาวก |
พระอมิตาภะ |
พระเมตไตรยะ |
|
การจัดแสดงภาพสลักสมัยพระนางบูเช็กเทียนในอาคารศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสภานแห่งชาติโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น |