ใบสีมา “เจ้าฟ้าเหม็น” ซ่อนนัยยะทางการเมือง?
อ.พิทยา บุนนาค ได้จัดแบ่งรูปแบบลวดลายบนใบสีมาหิน สมัยอยุธยา ไว้ ๒ ประเภท คือ
แบบโก่งคิ้ว ซึ่งเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในวัดที่กษัตริย์ทรงสร้าง
แบบสายสกุลอยุธยา หรือแบบที่มีลายคล้ายมะม่วง 2 ผล วางอยู่เคียงคู่กัน ซึ่งเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในวัดสามัญชนทั่วไป
คติการใช้ลวดลายบนใบสีมาตามฐานานุศักดิ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ ต่อมาได้สืบทอดมายังสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย อย่างไรก็ตาม อ.พิทยา บุนนาค ได้ค้นพบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้ กลับมีการสร้างใบสีมา ซึ่งมีรูปแบบพิเศษ ผิดปกติ แตกต่างไปจากคติเดิมที่เคยมีมาดังกล่าว นั่นคือ ใบสีมาที่วัดอภัยทายาราม ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกระษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) ทรงบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์สำคัญในรัชกาลที่ 1) เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระราชนัดดาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดปราน
ใบสีมาดังกล่าวนี้ มีจำนวน 2 แผ่น ปักอยู่ทางด้านข้างของโบสถ์ข้างละ 1 แผ่น โดยสร้างขึ้นด้วยรูปแบบที่ผิดไปจากธรรมเนียมที่เคยมีมา นั่นคือนำลวดลาย 2 ประเภทตามคตินิยมดังกล่าวข้างต้น มาผสมกันหรือ “ซ้อนทับ” กัน โดยนำลวดลายแบบโก่งคิ้ว ซึ่งทำเป็นลายเส้นเล็กๆ อันเป็นลวดลายที่นิยมใช้ในวัดกษัตริย์สร้าง มาวางทับซ้อนลงบนแบบสายสกุลอยุธยาอย่างกลมกลืน จนหลายคนอาจไม่ได้สังเกตเห็น
อ.พิทยา บุนนาค ได้เสนอสาเหตุของการสร้างใบสีมาที่ผิดไปจากคติเดิมนี้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับการซ่อนแฝงนัยยะทางการเมืองของเจ้าฟ้าเหม็นว่า ทรงมีสิทธิที่จะขึ้นครองราชย์สืบต่อจากรัชกาลที่ ๑ เนื่องจากทรงเป็นผู้มีอำนาจมากพระองค์หนึ่งในสมัยนั้น เสมอกับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบมา ส่วนเจ้าฟ้าเหม็นได้รับการกล่าวโทษในข้อหากบฏ และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนไม้จันทน์ที่วัดปทุมคงคา
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “ใบสีมาพูดได้ที่วัดอภัยทายาราม กรุงเทพ” โดยพิทยา บุนนาค ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ศิลปะบันดาลใจ” หนังสือรวมบทความวิชาการในวาระเจริญอายุครบ 6 รอบของ รศ.ดร.พิริยะไกรฤกษ์ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์