ข้อมูลทางโบราณคดี ชี้ “กรือเซะ” ไม่ได้ถูกสาป
ตำนานมัสยิดกรือเซะ ที่ได้รับการเผยแพร่กันมานานคือ ตำนานเรื่องนางลิ้มกอเหนี่ยว ที่เดินทางมาจากจีน เพื่อมาตามหาลิ้มโต๊ะเคี่ยม ผู้เป็นพี่ชาย ที่ได้เข้ามาตั้งรกรากที่ปัตตานี และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ตัดสินใจไม่เดินทางกลับไปกับลิ้มกอเหนี่ยว จนทำให้ลิ้มกอเนี่ยวเสียใจ แขวนคอตาย พร้อมกับสาปแช่งให้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สร้างไม่สำเร็จ กระทั่งต่อมาเมื่อการก่อสร้างไปถึงยอดโดม ก็เกิดฟ้าผ่าทำให้โดมพังทลายลง และเมื่อจะสร้างขึ้นใหม่ก็กลับถูกฟ้าผ่าอีก จนทำให้มัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่สร้างไม่เสร็จมาจนทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ครองชัย หัตถา ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ศึกษาพบว่า จากหลักฐานทางโบราณคดีและชั้นดินที่พบจากการขุดค้นมัสยิดกรือเซะเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่พบ “คาร์บอน” หรือเศษผงเถ้าของการเผาไหม้แต่อย่างใด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ตำนานที่ระบุว่ามัสยิดเคยถูกฟ้าผ่า หรืออาจเคยถูกเผาจนเสียหายนั้น น่าจะไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ศ.ดร.ครองชัย ยังอธิบายอีกว่า ความเชื่อว่ามัสยิดสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์นั้น น่าจะไม่เป็นความจริง เพราะจากหลักฐานเอกสารระบุว่า เริ่มสร้างขึ้นในสมัยของสุลต่านพญาอินทิรา (อิสมาอีล ชาห์) สุลต่านพระองค์แรกของอาณาจักรปัตตานี เมื่อราว พ.ศ.2073 แต่มาสำเร็จเสร็จสิ้นในรัชกาลถัดมา คือ สุลต่านมมูซัฟฟัร ชาห์ แต่การที่มัสยิดดูเหมือนจะสร้างไม่เสร็จนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก เทคนิคการก่อสร้าง “ยอดโดม” ที่ยังไม่ดีนัก ทำให้เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง จึงพังทลายลงมา โดยต่อมาเมื่ออาณาจักรปัตตานีเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ จึงมีการย้ายศูนย์กลางของเมืองไปตั้งในจุดใหม่ ทำให้มัสยิดกรือเซะของราชวงศ์เดิม ถูกทิ้งร้างไป
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้จากหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง” โดย ดร.ครองชัย หัตถา
หรือ คลิกที่นี่ เพื่ออ่านเรื่อง “กรือเซะ : มุมมองใหม่จากหลักฐานภูมิประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรณีศึกษามัสยิดกรือเซะและความขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์” โดย ดร.ครองชัย หัตถา