ธรรมจักรคือ สัญลักษณ์ของ “แสงสว่าง”
นักวิชาการพบว่า ใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่พบในภาคอีสานและในกัมพูชาจำนวนหนึ่ง มักสลักภาพรูป “จักร” (วงล้อ) หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ธรรมจักร”รูปจักรเหล่านี้ส่วนหนึ่งพบว่าได้มีการสลักลวดลายรอบๆ จักรให้เป็นรูป “รัศมี” หรือรูปคล้ายเปลวไฟเปล่งประกายอยู่โดยรอบ
ทำไมรูปธรรมจักรเหล่านี้จึงต้องมีรูปรัศมีหรือเปลวไฟอยู่โดยรอบ?
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า เดิมตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล “จักร” เป็นสัญลักษณ์สื่อแทน “พระอาทิตย์” ซึ่งได้รับการนับถือให้เป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งมาก่อน(พระสุริยเทพ) ดังปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวท ซึ่งได้เปรียบพระอาทิตย์ ว่าเป็นเสมือน “จักร” หรือ “วงล้อ” โดยต่อมาศาสนาพุทธได้นำคตินี้มาปรับใช้ เพื่อสื่อแทนถึง “พระพุทธเจ้า” ดังปรากฏในสมัยอินเดียโบราณที่มีการสร้างจักรขึ้นบนยอดเสา เพื่อสื่อแทนพระพุทธองค์ว่าเปรียบดั่งพระอาทิตย์ที่มีความสว่าง รวมทั้งยังเปรียบเสมือนแสงสว่างแห่งธรรมที่หมุนวนไปทั่ว และยังเปรียบได้กับการตื่นที่ยิ่งใหญ่หรือการตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐหรือพุทธิปัญญา อันอุปมาได้กับแสงสว่าง และต่อมารูป “จักร” ดังกล่าวนี้ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน
สรุปความมาจากงานวิจัยเรื่อง “หลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2557