เมื่อการค้นพบสาเหตุ “วัณโรค” ทำให้ “แฟชั่นตะวันตก” เปลี่ยน
เว็บไซต์สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา นำเสนอบทความที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง เล่าถึง ผลของการค้นพบสาเหตุของ “วัณโรค” ใน ค.ศ. 1882 ว่า การค้นพบครั้งนั้นได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “แฟชั่น” ครั้งสำคัญในชาติตะวันตก
บทความนี้ เขียนโดย Emily Mullin ซึ่งได้เล่าไว้ว่า หลังจาก ค.ศ.1882 Robert Koch แพทย์ชาวเยอรมัน ได้ค้นพบที่มาของวัณโรคปอดว่า มีสาเหตุมาจาก “เชื้อโรค” แบคทีเรีย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่เดิมเคยมีว่า มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรืออากาศที่ไม่บริสุทธิ์
Emily Mullin อธิบายว่า การค้นพบ “เชื้อโรค” ว่าเป็นสาเหตุของวัณโรคในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “แฟชั่น” ของทั้งชายและหญิงในตะวันตกอย่างสำคัญ เช่น ความนิยมนุ่งกระโปรงยาวตัวใหญ่และยาวไปจรดพื้น หรือที่รู้จักในไทยว่า “กระโปรงสุ่มไก่” ได้ลดความนิยมลง หลังจากได้มีการเสนอว่า กระโปรงสุ่มไก่ยาวจน “ลากพื้น” ซึ่งเป็นที่นิยมในเหล่าสตรีตะวันตกนี้ อาจเป็นพาหะนำเชื้อวัณโรคที่อยู่ตามพื้นถนนติดชายกระโปรงแพร่กระจายไปตามไปที่ต่างๆ ที่สตรีเหล่านั้นเดินทางไป รวมถึงนำเชื้อโรคกลับไปที่บ้านด้วย ดังนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แฟชั่นกระโปรงสุ่มไก่ จึงเริ่มลดความนิยมลง โดยต่อมาแฟชั่นตะวันตกเริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่อง “รองเท้า” มากขึ้น หลังจากความนนิยมกระโปรงยาวกรอมเท้าลดความนิยมลง
สำหรับการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นของชายชาวตะวันตก ก็คือ เปลี่ยนจากการไว้หนวดเคราและจอนอย่างรุงรัง ซึ่งถูกมองว่าเป็นที่สะสมเชื้อโรค มาเป็นแฟชั่นใบหน้าที่ไร้หนวดเครา เกลี้ยงเกลาสะอาดสะอ้านแทน
อ่านรายละเอียดของบทความนี้ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา คลิกที่ Link นี้ http://bit.ly/1VXy12R