“ดอกบัวยักษ์ Victoria” ภาพปริศนาธรรมขรัวอินโข่ง วัดบวรฯ วัดบรมฯ
สื่อ “ความยิ่งใหญ่” ของอังกฤษ
จิตรกรรมปริศนาธรรมฝีมือขรัวอินโข่ง-ฝีพระหัตถ์การออกแบบของวชิรญาณภิกษุ(รัชกาลที่ 4) ณ วัดบวรนิเวศ วัดบรมนิวาส ซึ่งวาดขึ้นตามรูปแแบบตะวันตกและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีภาพหนึ่งคือ ภาพดอกบัวขนาดยักษ์ที่อยู่กลางบึง ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากกำลังชื่นชมอยู่ริมบึง
ภาพดังกล่าวนี้วาดขึ้นเพื่อเป็นสื่ออุปมาอุปไมย เปรียบเทียบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยให้พระพุทธเจ้าเปรียบเป็น “ดอกบัวยักษ์” พระธรรมเปรียบดั่งน้ำหวานหรือกลิ่นหอมของดอกบัว และพระสงฆ์เปรียบเป็นคนหรือแมลงที่มาชื่นชมดอกบัว
อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าของทีมวิชาการสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส พบว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังปริศนาธรรมทั้งสองวัดดังกล่าวนี้ นอกจากจะวาดขึ้นเพื่ออุปมาอุปไมยถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ภาพทั้งหมดยังเป็นการสื่อถึงเหตุการณ์สำคัญทางภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นจริงในตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย โดยภาพดอกบัวยักษ์ดังกล่าวนี้ น่าจะสื่อถึงดอกบัวขนาดใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษค้นพบจากทวีปอเมริกาใต้ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงในอังกฤษจนประสบผลสำเร็จ เป็นที่ตื่นเต้นให้แก่ชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก และได้มีการตั้งชื่อดอกบัวชนิดนี้ว่า “Victoria” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียที่เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์
คาดว่าการนำภาพดอกบัวยักษ์มาวาดไว้ดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการอุปมาอุปไมยถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ยังเป็นความตั้งใจออกแบบภาพในเชิง “อุปมาซ้อนอุปมา” เป็นการซ่อนความหมายแฝงไว้ในภาพ เพื่อสื่อถึงความยิ่งใหญ่ของอังกฤษ ทั้งด้านความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์อันก้าวหน้า และอำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิอังกฤษที่ยิ่งใหญ่เหนือชาติใดๆ ในเวลานั้น
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นอื่นๆ ได้ใน "จิตรกรรมฝาผนัง พุทธศตวรรษที่ 19-สมัยรัตนโกสินทร์" โดย ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส