“ทำนบ” ที่หัวรอ สมัยอยุธยา คือ สะพานก่ออิฐข้ามแม่น้ำ?
เดิมเชื่อกันว่า ในสมัยอยุธยา ตรงบริเวณตลาดหัวรอในปัจจุบัน มี “ทำนบ” กั้นแม่น้ำอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้เบี่ยงบังคับน้ำให้ไหลเข้าสู่แม่น้ำลพบุรี(คลองเมือง) และยังถูกใช้เป็นทางข้ามแม่น้ำ เข้าและออกจากเกาะเมืองอยุธยาได้
อย่างไรก็ตาม เทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ ได้เสนอข้อคิดใหม่ว่า “ทำนบ” ดังกล่าวนี้ อาจเป็น “สะพาน” ก่ออิฐ คล้ายกับสะพานโค้งที่ได้รับอิทธิพลเชิงช่างมาจากเปอร์เซีย/อินเดียมุสลิม ซึ่งแพร่หลายในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และปัจจุบันยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เช่น สะพานเทพหมี ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยสะพานแห่งนี้คงใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกเมือง รวมทั้งนำช้างจากเพนียดคล้องช้างเข้าเมืองด้วย ทั้งนี้เทพมนตรีได้ใช้หลักฐานที่พบจากแผนที่โบราณรูปเกาะเมืองอยุธยาฉบับต่างๆ ที่ชาวต่างชาติได้ทำขึ้น ซึ่งวาดแนวเส้นทึบพาดทับแม่น้ำตรงจุดนี้ตรงกันทุกฉบับ ที่สำคัญคือมีแผนที่ฉบับหนึ่งของนายแพทย์แกมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ได้ระบุไว้ในแผนที่ว่า ณ จุดนี้คือ “Ponte de brug” หรือ “สะพานแห่งบรุ๊ค” ซึ่งคาดว่านายแพทย์แกมป์เฟอร์คงตั้งชื่อขึ้นตามชื่อ “เมืองบรุ๊ค” ประเทศเบลเยี่ยม อันเป็นเมืองป้อมปราการที่มีแม่น้ำล้อมทุกด้านเหมือนอยุธยา และมีสะพานเชื่อมระหว่างเมืองกับนอกเมืองเหมือนกัน
ร่องรอยของสะพานแห่งนี้ เคยพบหลงเหลืออยู่บ้าง ดังที่เมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์เคยสำรวจพบว่า มีโคนเสาหลงเหลืออยู่กลางแม่น้ำ ซึ่งในเวลานั้นเชื่อว่าคือทำนบกั้นแม่น้ำ
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในบทความของเทพมนตรี ลิมปพยอม ที่ Link ด้านล่างนี้
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1422450154463774&set=pcb.1422450841130372&type=3&theater
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1422250667817056&set=pcb.1422247857817337&type=3&theater