ส่องจารึกก้องโลก “โรเซ็ตต้า” จารึกที่อ่านได้สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 3
ศิลาจารึกชิ้นสำคัญและเป็นที่รู้จักก้องโลกหลักหนึ่งคือ จารึกโรเซ็ตต้า (Rosetta) ซึ่งเป็นจารึกอียิปต์โบราณ สร้างขึ้นเมื่อก่อนคริสตศักราช 196 ปี จารด้วยอักษร 3 แบบ คือ อักษรกรีกโบราณ อักษรลายมือ(Demotic) และอักษรภาพอียิปต์ (Hieroglyphics) เล่าเรื่องเกี่ยวกับกฏต่างๆ ในสมัยปโตเลมีที่ 5 จารึกชิ้นนี้ถูกค้นพบโดยกองทัพนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสที่ใกล้เมืองโรเซ็ตต้า ประเทศอียิปต์ แต่ต่อมาเมื่ออังกฤษชนะกองทัพฝรั่งเศส จึงยึดจารึกชิ้นนี้กลับไปยังอังกฤษ และนำมาจัดแสดงใน British museum กรุงลอนดอน จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่มีผู้เข้าชมมากในลำดับต้นๆ ของ British museum
หลังการค้นพบจารึก ผู้คนทั่วไปต่างสนใจจารึกหลักนี้ โดยคาดหวังว่าจะเป็นข้อมูลที่เผยประวัติศาสตร์อียิปต์ให้กระจ่างชัด แต่ทว่ายังไม่มีผู้สามารถอ่านอักษรภาพอียิปต์ได้ กระทั่งต่อมา ค.ศ.1821-1822 Jean Francois Champollion นักประวัติศาสตร์อียิปต์ ชาวฝรั่งเศส และอดีตภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ลูฟท์ ก็สามารถถอดรหัสอักษรภาพอียิปต์ได้เป็นผลสำเร็จ นำมาสู่การจัดทำพจนานุกรมอักษรภาพอียิปต์ในเวลาต่อมา
ข่าวผลสำเร็จของการถอดรหัสและสามารถอ่านอักษรภาพอียิปต์ได้นี้ สร้างความฮือฮาให้แก่วงการประวัติศาสตร์ในเวลานั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนที่จะมีการพบศิลาจารึกหลักสำคัญที่สุโขทัยและนำกลับมายังกรุงเทพฯ ราว 10 ปี
สามารถชมศิลาจารึกโรเซ็ตต้าได้อย่างละเอียด 360 องศา ซึ่งจัดทำโดย British Museum ที่ด้านล่างนี้
(ที่มาภาพ: British Museum)