ระเบียงคดล้อมมหาธาตุอยุธยา กำเนิดที่วัดไชยฯ
เดิมชื่อ “พระเชตุพน” จำลองจากนครวัด?
ศรัณย์ ทองปาน กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ นำเสนอข้อคิดใหม่ว่า ระเบียงคดวัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เดิมอาจมีชื่อเรียกว่า “พระเชตุพน” และอาจเป็นระเบียงคดล้อมพระมหาธาตุแห่งแรกของกรุงศรีอยุธยา โดยจำลองมาจากปราสาทนครวัด กระทั่งในสมัยต่อมาได้รับความนิยมนำไปสร้างล้อมพระมหาธาตุที่เคยมีอยู่แล้วในอยุธยาอีกหลายแห่ง และอาจรวมถึงพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีที่ได้รับการบูรณะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ด้วย แตกต่างจากเดิมที่เคยเชื่อว่า ระเบียงคดล้อมพระมหาธาตุ เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยสืบมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
ศรัณย์ ได้เสนอความคิดนี้ โดยค้นคว้าสืบต่อจากบทความเรื่อง “ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับระเบียงคด : ถอดความจากภาพสีน้ำอยุธยาของโยฮันเนส วิงโบนส์” ของสุวัฒน์ แซ่ดั่น ที่ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ศรัณย์อธิบายว่า จากหลักฐานเอกสารโบราณบันทึกโดยชาวญี่ปุ่น พบว่าเดิมปราสาทนครวัดในพุทธศตวรรษที่ 22 (ช่วงเวลาเดียวกับการสร้างวัดไชยวัฒนาราม) ได้รับการเรียกขานว่า “พระเชตวัน” (เชตุพน) ซึ่งเป็นชื่อที่นำมาจากอารามสำคัญของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล พระเชตวันหรือปราสาทนครวัดนี้ถือเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญแห่งสำคัญ โดยจุดศูนย์กลางสำคัญของปราสาทนครวัดในเวลานั้นจะอยู่ที่บริเวณระเบียงคดที่ตัดกันเป็นกากบาทที่เชื่อมต่อระหว่างระเบียงคดชั้นนอกด้านทิศตะวันตกกับระเบียงคดชั้นที่ 2 ระเบียงคดตรงจุดนี้ รู้จักกันในชื่อ “ระเบียงพระพัน” ซึ่งมีการนำพระพุทธรูปและปูชนีวัตถุจำนวนมากมาประดิษฐานเรียงรายไว้ในระเบียงคดจนเป็นที่มาของชื่อ “พระพัน”
ด้วยการที่เป็นสถานที่จาริกแสวงบุญแห่งสำคัญ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงน่าจะโปรดเกล้าฯ ให้จำลองปราสาทนครวัดมาสร้างขึ้นที่วัดไชยวัฒนาราม พร้อมกับสร้างระเบียงคดและประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายจำนวนมาก ตามแบบ “ระเบียงพระพัน” ศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทนครวัดในเวลานั้น แล้วเรียกขานระเบียงคดแห่งนี้ว่า “พระเชตุพน” ตามชื่อเรียกปราสาทนครวัดในเวลานั้น ดังปรากฏชื่อ “พระเชตุพน” อยู่ในบานแพนกกฎหมายลักษณะมรดก สมัยอยุธยา ที่กล่าวถึงกษัตริย์อยุธยาได้สถาปนา “พระมหาวิหาร-พระเชตุพน-พระมหาธาตุ” ขึ้นที่วัดไชยวัฒนาราม
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้จากบทความเรื่อง “เชตุพน-เชตวัน” โดย ศรัณย์ ทองปาน ในหนังสือ “รวมบทความวิชาการ เนื่องในโอกาสครบ 65 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร” มิถุนายน 2564 โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่สมาคมนักศึกษาเก่า คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร