ท้าวเวสสุวรรณพบที่สุโขทัย เก่าที่สุดในไทย?
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือ “ทิพยประติมา” ว่า ท้าวเวสสุวรรณ (เวสสุวัณ, ท้าวไพศรพณมหาราช) คือ เทพองค์หนึ่งในศาสนาพุทธเถรวาท พัฒนามาจาก “ท้าวกุเวร” เทพแห่งความมั่งคั่งของศาสนาฮินดู
ตำนานพุทธศาสนาเชื่อว่า ท้าวเวสสุวรรณเป็นอริยบุคคลที่บรรลุโสดาบันและถือเป็นเทพแห่งยักษ์ รวมทั้งยังเป็นผู้รักษาสมบัติทั้งปวงของโลก ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งขุมทรัพย์ คัมภีร์พุทธศาสนาหลายฉบับระบุว่า ท้าวเวสสุวรรณเป็น 1 ใน 4 จตุโลกบาล ผู้ดูแลเขตสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาในทิศต่างๆ โดยท้าวเวสสุวรรณดูแลทิศเหนือ
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี อธิบายว่า การสร้างรูปท้าวเวสสุวรรณ นิยมสร้างเป็นรูปยักษ์และถือกระบองไว้ที่ด้านหน้า ตามความเชื่อที่ว่าเป็นเจ้าแห่งยักษ์และสื่อถึงฐานะการเป็นจตุโลกบาลผู้ดูแลรักษาสวรรค์ การสร้างท้าวเวสสุวรรณในรูปลักษณ์ยักษ์เช่นนี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าในเมืองไทยเริ่มต้นสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากการสืบค้นโบราณวัตถุในไทย ได้พบโบราณวัตถุรูปยักษ์ถือกระบองจำนวนหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย มีทั้งปูนปั้น ดินเผาสังคโลก โลหะ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงยักษ์ตนใด แต่เป็นไปได้ว่าอาจหมายถึงท้าวเวสสุวรรณ และถ้าหากเป็นท้าวเวสสุวรรณจริง รูปยักษ์เหล่านี้ก็อาจเป็นรูปท้าวเวสสุวรรณที่เก่าแก่ที่สุดในไทยเท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีก ได้ ในหนังสือ “ทิพยประติมา” โดย อรุณศักดิ์ กิ่งมณี สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส