อนุสรณ์ดอนเจดีย์ “แบบที่ไม่ได้สร้าง” ในสมัยรัชกาลที่ 6
อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี คือเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อครอบเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่ง ที่ในครั้งนั้นเชื่อว่าคือเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร
กฤษกนก ลิมวัฒนานนท์ชัย อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า แต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนที่จะมีการสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ได้เคยมีการออกแบบอนุสรณ์ดอนเจดีย์ให้มีรูปแบบอีกแบบหนึ่ง โดยมีต้นแบบมาจากเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมองค์หนึ่งที่พบในจังหวัดตาก ซึ่งในเวลานั้นเชื่อว่าคือเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง อย่างไรก็ตาม จากปัญหาทางเศรษฐกิจและงบประมาณที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ทำให้โครงการนี้ต้องล้มเลิกไป กระทั่งต่อมาในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีการออกแบบใหม่เป็นเจดีย์ทรงกลมที่ได้รับต้นเค้ามาจากเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งในเวลานั้นเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวร และอยู่สืบมาถึงปัจจุบัน
ในวิทยานิพนธ์เสนออีกว่า การเลือกเจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม สมัยสุโขทัย มาเป็นต้นแบบของอนุสรณ์ดอนเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น มีที่มาจากอุดมการณ์ของรัฐในเวลานั้น ที่เน้นความเป็น “ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโบราณ” เพื่อมุ่งหวังให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ และความรุ่งเรืองในอดีตภายใต้การปกครองของกษัตริย์ ที่จะส่งผลต่อความภาคภูมิใจ สามัคคี และความมั่นคงของรัฐ ท่ามกลางการประสบปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐในเวลานั้น การรื้อฟื้นศิลปะสุโขทัยในรัชสมัยนี้ ยังพบได้อีกในการออกแบบอนุสาวรีย์ทหารอาสา สนามหลวงที่ได้เลือกเจดีย์ทรงปราสาทจากวัดเจดีย์เจ็ดแถว สุโขทัยมาเป็นต้นแบบ ดังนั้นศิลปะจึงถือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการสร้างอุดมการณ์ของรัฐ
ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน กฤษกนก ลิมวัฒนานนท์ชัย, พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการก่อรูปของงานสถาปัตยกรรมแบบรักชาติในรัชสมัย (พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๖๘) วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๖.