“เขาปลายบัด-โพธิสัตว์ประโคนชัย” สืบสาย “อภัยคีรี” มหายานลังกา
รศ.พิชญา สุ่มจินดา อธิบายไว้ในรายงานการวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของอภัยคีรีวิหารฯ” ว่า พุทธศาสนาในลังกาไม่มีได้เพียงนิกายเถรวาท หรือ “ลังกาวงศ์” เท่านั้น แต่ยังมีนิกายมหายาน-ตันตรยาน หรือสำนัก “อภัยคีรีวิหาร” ที่เจริญพร้อมกันอยู่ด้วย
อภัยคีรีวิหารนี้ เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-17 หรือสมัยอนุราธปุระตอนปลาย ถือเป็นสำนักพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลทางความคิดและถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในเวลานั้น ที่สำคัญคือยังเป็นสำนักที่แผ่อิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง ไกลถึงจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งชุมชนโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับในประเทศไทย จากการศึกษาของ รศ.พิชญา พบร่องรอยของอิทธิพลของสำนักอภัยคีรีวิหารอยู่ด้วย เช่น ที่ชุมชนโบราณในภาคใต้ เมืองศรีเทพ เมืองอู่ทอง และที่น่าสนใจคือบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเคยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมรมาก่อน ตัวอย่างร่องรอยของอภัยคีรีในเขตอีสานตอนล่างคือที่เขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทเขมรโบราณ และยังเป็นที่ที่พบ “พระโพธิสัตว์สำริดแบบประโคนชัย” อันมีชื่อเสียง
รศ.พิชญาอธิบายว่า จารึกหลักหนึ่งซึ่งพบที่บ้านซับบาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นจารึกที่จารขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 แต่เนื้อหาของจารึกได้กล่าวย้อนไปถึงพุทธสถานแห่งหนึ่งเรียกว่า “อภัยคีรี” ในพุทธศตวรรษที่ 14 ในครั้งนั้น “กำเสตงศรีสัตยวรมัน” ซึ่งน่าจะเป็นพระอาจารย์มหายานท่านหนึ่ง ได้สร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำนวน 9 องค์ ประดิษฐานไว้ที่ “อภัยคีรี” เพื่อหวังให้ช่วยปกป้องกัมพูชาจากการรุกรานของชวา โดยพระโพธิสัตว์เหล่านี้ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจากคณะศิษย์ กระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 17 จึงมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นอีกองค์หนึ่ง และยังกล่าวว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่จาริกแสวงบุญ เรียกว่า “เตงปาส”
รศ.พิชญา เสนอว่า อภัยคีรีที่กล่าวถึงในจารึกหลักนี้ น่าจะเป็นชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากสำนักอภัยคีรีวิหาร ลังกา โดยน่าจะหมายถึง เขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ไม่มีพุทธสถานอื่นใดอีกแล้วในบริเวณที่ราบสูงโคราชที่มีความสำคัญและพบหลักฐานนิกายมหายานจำนวนมากเท่าที่เขาปลายบัด ดังที่พบพระโพธิสัตว์สำริดแบบประโคนชัย จำนวนมากถึง 300 องค์ ซึ่งมีอายุสมัยสอดรับกับเนื้อหาในจารึกและมีรูปแบบบางประการสอดรับกับพระโพธิสัตว์ลังกา
อภัยคีรีที่เขาปลายบัดนี้ คงเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของนิกายมหายาน-ตันตรยานมาตลอดหลายยุคหลายสมัย โดยนิกายมหายาน-ตันตรยานที่เขาปลายบัดนี้ ต่อมาคงสืบทอดมายังปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ และประเด็นอื่นๆ ได้อีกในรายงานการวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของอภัยคีรีวิหารต่อพุทธศิลป์ ลัทธิมหายาน-ตันตรยานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย รศ.พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพประกอบ: พระโพธิสัตว์สำริด บ้านฝ้าย จ. นครราชสีมา ประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัย