เปิดภาพสันนิษฐาน-แผนผัง โบสถ์นักบุญยอแซฟ สมัยอยุธยา ศูนย์กลางคริสต์เก่าสุดในสยาม
วัดนักบุญยอแซฟ จ.อยุธยา คือโบสถ์คริสต์ยุคแรกที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นโบสถ์ที่พำนักของสังฆราช ถือเป็นอาสนวิหาร (Cathedral) ศูนย์กลางการปกครองคาทอลิกแห่งแรกในสยาม โบสถ์แห่งนี้ต่อมาได้ถูกทำลายลงในคราวสงครามเสียกรุงฯ กระทั่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้มีการรื้อฟื้นสร้างโบสถ์หลังเล็กๆ ขึ้นใหม่ทับลงบนตำแหน่งเดิม จนต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการสร้างโบสถ์ใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ขึ้นแทน และอยู่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
ดร.ปติสร เพ็ญสุต อธิบายไว้ในหนังสือ “โบสถ์คริสต์ในประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า รูปทรงของโบสถ์หลังนี้ในสมัยอยุธยามีหน้าต่างเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามจากการที่หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพได้ค้นพบหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งคือ แผนผังรากฐานของโบสถ์ดั้งเดิมในสมัยอยุธยา ทำให้สามารถพอคาดเดารูปทรงของโบสถ์หลังนี้ในสมัยอยุธยาได้
แผนผังนี้ได้ถูกทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในคราวเตรียมการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ที่จะสร้างทับลงบนรากฐานเดิม จากแผนผังจะเห็นว่าโบสถ์หลังเดิมในสมัยอยุธยามีขนาดใหญ่กว่าโบสถ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแผนผังรูปไม้กางเขน ส่วนด้านหน้าเป็นที่ตั้งของหอระฆัง 2 หอ จากแผนผังนี้ประกอบกับข้อมูลจากบันทึกของชาวต่างชาติที่ได้บรรยายถึงรูปทรงของโบสถ์หลังนี้ไว้ว่ามีรูปทรง “คล้ายวัดไทย” ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า โบสถ์วัดนักบุญยอแซฟในสมัยอยุธยา เดิมคงมีรูปทรงคล้ายอาคารพุทธสถานไทย มีหน้าบันแบบที่เรียกว่า “วิลันดา” และมีหอระฆังขนาบอยู่ด้านข้าง ตามแบบคริสตศิลป์
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้ในหนังสือเรื่อง “โบสถ์คริสต์ในประเทศไทย” เขียนโดย ดร.ปติสร เพ็ญสุต ผลิตโดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส