แผนผัง “กรุ” สมัยอยุธยา มาจากแผ่นศิลาฤกษ์ “ครรภบัตร”
องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งของสถูปเจดีย์คือ กรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของเจดีย์
รศ.ดร.จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ อธิบายไว้ในหนังสือ “กรุและการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ” ว่า กรุในระยะแรกที่พบในไทย มักสร้างอยู่ตรงแกนกลางของสถูปเจดีย์ ณ ระดับพื้นดินไปจนถึงใต้ดิน ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลางจึงพบว่ามีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งกรุมาที่ส่วนกลางของสถูปเจดีย์
รศ.ดร.จีราวรรณ พบว่ากรุเก่าแก่ที่พบในไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น กรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ อยุธยา ซึ่งมีรูปแบบแผนผังของกรุเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมตัดกัน จากการศึกษาพบว่า รูปแบบช่องตารางของกรุรูปแบบนี้ น่าจะพัฒนามาจากรูปแบบของแผ่นหินศิลาฤกษ์ที่พบในลังกา เรียกว่า “ครรภบัตร” หรือ “ยันตคละ” ซึ่งทำมาจากแผ่นหิน สลักเป็นช่องสี่เหลี่ยมตัดกันเป็นตารางหมากรุก ภายในบรรจุวัตถุมงคลต่างๆ แล้วนำแผ่นหินนี้ตั้งวางอยู่ด้านล่างของกรุ
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีก ได้ในหนังสือ “กรุและการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ” โดย รศ.ดร.จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส