"พระประจำวันเกิด" มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา?
พระพุทธรูปประจำวัน คือพระปางต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นประจำตามวันต่างๆ นั่นคือ
วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร
วันจันทร์ ปางห้ามสมุทร(ห้ามญาติ)
วันอังคาร ปางไสยาสน์
วันพุธ ปางอุ้มบาตร
วันพฤหัสบดี ปางสมาธิ
วันศุกร์ ปางรำพึง
วันเสาร์ ปางนาคปรก
ราหู(พุธกลางคืน) ปางป่าเลไลย
พระเกตุ ปางสมาธิ
แต่เดิมที่มาของพระประจำวันนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อโหราศาสตร์ โดยเชื่อว่าเทวดาพระเคราะห์ (หรือนพเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยเทวดาซึ่งมีชื่อตรงกับวันทั้ง 7 วันที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เช่น พระจันทร์ พระอังคาร และยังมี 2 องค์คือพระเกตุ พระราหู) จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาคุมชะตาชีวิต ซึ่งอาจทำให้ดวงชะตาตก ดั้งนั้นหากช่วงเวลาใดที่เทวดาพระเคราะห์คุมชะตาชีวิตผู้นั้นอยู่ คนๆ นั้นก็มักจะกราบไหว้บูชาพระประจำวันนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพระพุทธรูปตรงกับวันเกิดของตนเอง ถือเป็นวิธีการสะเดาะเคราะห์ทางหนึ่ง เช่น ผู้เกิดวันอาทิตย์ ในอายุ 7 - 21ปี จะเป็นช่วงที่พระจันทร์เข้ามาคุมชะตาชีวิต ดังนั้นผู้เกิดวันอาทิตย์ในช่วงอายุนี้ควรบูชาพระประจำวันจันทร์ คือพระปางห้ามสมุทร เป็นต้น
อย่างไรก็ตามต่อมาคติความเชื่อนี้ได้ถูกดัดแปลงไป โดยปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้น ด้วยการหันมายึดวันเกิดของตนเองเป็นหลัก ไม่เกี่ยวโยงกับเทวดาพระเคราะห์ที่จะเข้ามาคุมชะตาชีวิตในช่วงเวลาใดอีกต่อไป โดยหากเกิดวันใดก็บูชาพระพุทธรูปประจำวันนั้น เช่น เกิดวันอาทิตย์ ก็บูชา พระปางถวายเนตร เป็นต้น
คติการบูชาพระประจำวันเกิดนี้ มีหลักฐานว่ามีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ดังปรากฏอยู่ในตำราพระพุทธปฏิมาปางต่างๆ ซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้เสนอไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย” ว่าคตินี้อาจมีมาอย่างน้อยตั้งแต่อยุธยาแล้ว
ดร.พิริยะ อธิบายว่า ร่องรอยของคติ “พระประจำวัน” หรือ “พระประจำวัดชาตา” ในสมัยอยุธยา ปรากฏอยู่ในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระราชนิพนธ์ขึ้น ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวน 9 ปาง ประกอบด้วยปางมารวิชัย ห้ามสมุทร ลีลา โปรดพญาชมพูบดี สมาธิ รำพึง ห้ามพระแก่นจันทน์ ถวายเนตร และไสยาสน์ ซึ่งใกล้เคียงกับพระประจำวันตามความเชื่อในปัจจุบัน
ส่วนที่มาของการกำหนดให้พระพุทธรูปปางนั้นๆ ประจำวันต่างๆ ยังไม่ทราบที่มาแน่ชัดแต่อย่างใด
อ่านรายละเอียดเรื่องพระประจำวันและเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกใน พระพุทธปฏิมาสยาม โดย ผศ.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส