ความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพพิธีเข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ 3
สมัยรัชกาลที่ 4 รัฐสยามได้ส่งคณะทูตเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2404 การเข้าเฝ้าในครั้งนั้นเป็นที่โจษจันกันในหมู่ชนชั้นนำของฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นคณะทูตจากแดนไกลที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ทั้งรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และรูปแบบธรรมเนียมในการเข้าเฝ้า และที่น่าสนใจคือราชสำนักฝรั่งเศสได้มีการบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นภาพวาดไว้ด้วย
ภาพวาดชิ้นนี้มีชื่อว่า The reception of the Siamese ambassadors at fontaienbleau (Réception des ambassadeurs du Siam à Fontainebleau) วาดขึ้นโดย Jean-Léon Gérôme ศิลปินที่นิยมวาดภาพที่เกี่ยวกับตะวันออกกลางและเอเชีย ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ใน Musée national du Château de Versailles ภาพนี้ต่อมามีการคัดลอกแล้วส่งมายังสยามภาพหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
อ.สายันต์ แดงกลม ผู้เชี่ยวชาญศิลปะตะวันตก ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า ภาพชิ้นนี้วาดเสร็จเมื่อ ค.ศ.1864 และในปีต่อมาได้มีการจัดแสดง โดยได้รับความสนใจจากชาวฝรั่งเศสเข้าชมเป็นจำนวนมาก
อ.สายันต์ อธิบายอีกว่า แม้ภาพชิ้นนี้จะเป็นภาพเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่ภาพที่บันทึกรายละเอียดจริงทั้งหมด กลับมีการแทรกสิ่งใหม่ และปรับแต่งภาพใหม่ให้เป็นไปตามที่ผู้วาดต้องการ ซึ่งทั้งหมดได้สะท้อนถึงความหมายแฝงหรือระบบสัญลักษณ์หลายประการที่ซ่อนอยู่ในภาพ
อ.สายันต์ ชี้ว่า ความหมายแฝงที่สำคัญประการหนึ่งของภาพนี้ คือการแสดงถึงความยิ่งใหญ่เรืองอำนาจของจักรวรรดิฝรั่งเศส ที่สะท้อนออกมาจากภาพพระราชวังที่หรูหรายิ่งใหญ่ โดยมีขบวนทูตที่กำลังหมอบคลานราบไปกับพื้น ซึ่งการหมอบคลานเข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนในครั้งนี้ แม้จะสร้างความกระอักกระอ่วนใจขัดกับธรรมเนียมของชาวตะวันตก แต่ก็น่าจะถือเป็นความจงใจที่ราชสำนักฝรั่งเศสต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นทูตสยามเคยเข้าเฝ้าราชสำนักอังกฤษด้วยการหมอบคลานมาก่อนแล้ว ดังนั้นเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอังกฤษ ทูตสยามก็ควรใช้ธรรมเนียมเดียวกับที่เคยทำกับอังกฤษเช่นกัน (ภาพจากhttp://en.wikipedia.org)
ฟังรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในคลิปการบรรยายเรื่อง สัจนิยมสายตาสั้น:หมอบราบ กราบกราน และคลานเข่า ในสมัยนโปเลียนที่ 3 โดย อ.สายันต์ แดงกลม โดยช่วงวิเคราะห์สำคัญอยู่ในช่วงเวลาชั่วโมงที่ 1.50 – 2.10)