"พุงแก" สมุนไพรในอโรคยศาลา?
เมื่อราว ๙๐๐ ปีที่แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ ได้โปรดฯ ให้สร้าง "อโรคยศาลา" (สถานพยาบาล) จำนวน ๑๐๒ แห่งขึ้นตามชุมชนต่างๆ ทั่วอาณาจักร คาดกันว่าเดิมในอโรคยศาลาคงประกอบไปด้วย วิหารประจำอโรคยศาลา ซึ่งสร้างขึ้นด้วยศิลาแลง เพื่อประดิษฐานพระไภษัชยคุรุฯ และอีกส่วนหนึ่งคือเรือนไม้หรือศาลาเพื่อเป็นสถานที่รักษาโรค
ทุกวันนี้อโรคยศาลาเหล่านี้หลงเหลือแต่เพียงซากวิหารกระจายอยู่ในเขตประเทศกัมพูชาและในประเทศไทย
ในประเทศไทยพบอโรคยศาลากระจายอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคอีสาน ในอโรคยศาลาหลายแห่งพบจารึกซึ่งล้วนมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน คือ เป็นจารึกที่บอกเล่าถึงประวัติการสร้าง สิ่งของต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานมา จำนวนบุคลากรที่ประจำอยู่ รวมถึงรายชื่อพืชและสมุนไพร ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวยาที่ใช้รักษาโรค
รายชื่อพืชและสมุนไพรที่ปรากฏในจารึก มีเช่น บุนนาค พริกไทย น้ำตาลกรวด เปลือกกระเทียม ดีปลี เปลือกไม้ พุทรา มหาหิงคุ์ เมล็ดธานี ฯลฯ ซึ่งบรรดาพืชและสมุนไพรเหล่านี้มีทั้งที่ทราบชนิดหรือสรรพคุณที่แน่ชัดแล้วและอีกส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด
จากการสำรวจของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งเผยแพร่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์(ฉบับ 18-24 ก.พ.54) รายงานว่า ทุกวันนี้รอบๆ อโรคยศาลาหลายแห่งทั่วภาคอีสาน พบสมุนไพรอยู่รอบๆ หลายชนิด แต่มีชนิดหนึ่งที่พบรอบอโรคยศาลาเกือบทุกแห่งคือ "ต้นพุงแก"
ต้นพุงแก มีชื่อในภาคอีสานว่า "ซายสู่"เป็นไม้พื้นเมือง สูงราว 3 - 8 เมตร อยู่ในสกุลเดียวกับ "ต้นชิงชี่" ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน "ยาห้าราก" ตำรับยาโบราณที่สืบทอดมานาน
สรรพคุณของต้นพุงแกคือ ใบ ใช้แก้ไข้ แก้ตระคริว ใช้ต้มอาบแก้ผดผื่นคัน
เนื้อไม้ นำมาเผาเป็นถ่านใช้สีฟันให้ขาวสะอาด ใช้ประคบแก้ฟกบวม
ดอก แก้แผลเรื้อรัง
ผล แก้ลำคออักเสบ
ราก แก้ไข้ ขับลม ร้อนใน
น่าคิดว่า ในอดีตต้นพุงแกนี้อาจเคยเป็นหนึ่งในตำรับยาของอโรคยศาลาก็เป็นได้