พระถังซัมจั๋ง บุคคลสำคัญแห่งเมืองซีอาน
วัดแห่งนี้มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า “ต้าเยี่ยนถ่า” มีความเกี่ยวข้องกับ “พระถังซัมจั๋ง” ภิกษุชื่อก้อง ผู้เดินทางไปศึกษาพระธรรม ณ ประเทศอินเดีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือราวพันปีมาแล้ว
ความนิยมในการเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่อินเดียของภิกษุจีนได้เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ และได้รับความนิยมเรื่อยมา จากหลักฐานพบว่ามีพระสงฆ์จีนกว่าร้อยรูปได้ทยอยกันเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดีย (ซึ่งในขณะนั้น “มหายาน” กำลังเฟื่องฟู) โดยเดินทางไปตามเส้นทางการค้าสำคัญที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหม” ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลายาวนาน เพราะเป็นเส้นทางผ่านทะเลทราย
พระถังซัมจั๋งได้ใช้เวลาศึกษาพุทธศาสนาในอินเดียราวสิบกว่าปี จึงเดินทางกลับเมืองซีอาน (เดิมชื่อเมืองฉางอาน) พร้อมกับได้อัญเชิญพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนากลับมาด้วยเป็นจำนวนมาก และท่านได้ใช้เวลาในการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาจีน ณ วัดห่านป่าใหญ่ ในเมืองซีอานนี่เอง
วัดแห่งนี้มีศาสนสถานสำคัญคือ “เจดีย์” ทรงซ้อนชั้น หรือที่เรียกว่า "ถะ" มีตำนานเล่าว่าพระถังซัมจั๋งได้สร้างเจดีย์องค์นี้ขึ้น ณ ตำแหน่งที่มีห่านป่าตัวหนึ่งตกลงมา ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่แปลก และเชื่อว่าห่านป่าดังกล่าวเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านจึงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นระลึกถึงพระโพธิสัตว์พระองค์นั้น และใช้พระเจดีย์เป็นที่เก็บรักษาพระบรมธาตุรวมทั้งพระคัมภีร์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
พระถังซัมจั๋ง เป็นพระสงฆ์ที่ฝักใฝ่ต่อการศึกษา ท่านได้เรียบเรียงบันทึกเกี่ยวกับพุทธศาสนาในอินเดีย ถวายแด่พระเจ้าถังเกาจง พระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังในเวลานั้น และท่านยังมีข้อเขียนที่แพร่หลายและกลายแรงบันดาลใจให้กับบรรดานักคิดและนักปราชญ์ในเวลาต่อมาอีกเป็นจำนวนมาก เหตุนี้ทำให้พระถังซัมจั๋งได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางและเล่าขานต่อกันมากลายเป็นตำนานไปในที่สุด
ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของพระถังซัมจั๋งยังถูกบันทึกไว้ในงานศิลปกรรม ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรมหลายชิ้น ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ภาพจิตรกรรมในถ้ำตุนฮวง โดยช่างผู้วาดมักวาดภาพเป็นรูปพระสงฆ์ แต่งกายอย่างนักบวชทั่วไป สวมรองเท้าสานด้วยฟาง แต่ที่เด่นมากที่สุดก็คือ ท่านมักอยู่ในท่าสะพายกล่องทรงสี่เหลี่ยมอยู่ที่หลัง มองดูคล้ายเป้ใบใหญ่ของนักเดินทาง ซึ่งภายในกล่องดังกล่าวนี้ใช้ใส่ของส่วนตัวระหว่างการเดินทาง รวมทั้งพระคัมภีร์ นอกจากกล่องนี้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “เครื่องบังแดด” เพราะการเดินทางในทะเลทรายนั้นร้อนมาก
อ้างอิง
Meher McARTHURE. Reading Buddhist Art London: Thames & Hudson Ltd., 2002, p. 89.
R. S. Gupte. Iconography of the Hindus Buddhists and Jains Bombay: D. B. Taraporevala Sons & Co. Private Ltd., p. 4.
"โชว์" ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในเมืองซีอาน เป็นการแสดงอัตลักษณ์ในด้านต่างๆ ของเมืองซีอาน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยว หนึ่งในการแสดงดังกล่าว มีเรื่องราวของพระถังซัมจั๋งด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในเมืองซีอาน สมัยราชวงศ์ถัง | |
ประติมากรรมขนาดใหญ่ของพระถังซัมจั๋ง ประดิษฐานอยู่ที่ลานด้านหน้าประตูทางเข้าวัดห่านป่าใหญ่ เมืองซีอาน จะเห็นว่าในมือของท่านจะถือ “Khakkhara” เป็นไม้เท้าด้ามยาว ส่วนยอดทำด้วยโลหะ ประกอบด้วยวงแหวนคล้องกันหลายวง เป็นสิ่งที่นักบวชนิยมถือติดตัวในเวลาเดินทาง เพื่อใช้เป็นเครื่องส่งเสียงเตือน เพราะเมื่อขยับไม้นี้ก็จะเกิดเสียงดังกรุกกรักๆ ช่วยเตือนให้สัตว์น้อยใหญ่หลีกหนีออกไปจากทางเดิน | |
วัดห่านป่าใหญ่เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของเมืองซีอานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ส่วนพระเจดีย์สร้างโดยพระถังซัมจั๋งเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระบรมธาตุและพระคัมภีร์ ซึ่งท่านได้อัญเชิญมาจากอินเดีย แต่เดิมเป็นเจดีย์ซ้อนชั้นมีเพียง ๕ ชั้น ต่อมามีการสร้างเพิ่มเป็น ๗ ชั้น โดยเฉพาะในสมัยพระนางบูเช็คเทียนได้รับการดูแลอุปถัมภ์เป็นอย่างดี ปัจจุบันเจดีย์องค์นี้สูง ๖๔.๕๐ เมตร ก่อด้วยอิฐ ภายในมีการจัดแสดงสิ่งหลายอย่าง เช่น จารึกสมัยราชวงศ์ถัง ภาพจำลองจิตรกรรมสมัยราชวงศ์ถัง รอยพระพุทธบาทจำลอง ภาพถ่ายเก่าของเจดีย์ และพระบรมธาตุ โดยแยกจัดแสดงไว้ตามชั้นต่างๆ ซึ่งสามารถเดินขึ้นไปชมจนถึงยอดบนสุดได้ด้วย เมื่อถึงชั้นบนสุดแล้วก็จะชมทิวทัศน์ของเมืองซีอานอันงดงามอีกด้วย | |
วัดห่านป่าใหญ่ มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ตรงกลางมีเจดีย์ซ้อนชั้นขนาดใหญ่ตั้งเป็นประธานของวัด ถือเป็นวัดสำคัญของเมืองซีอาน |