เจดีย์สี่เหลี่ยมในล้านนา มาจากจีน? การค้นหาที่ยังไม่มีข้อสรุป
หมายเหตุ: ข้อเขียนสั้นๆ นี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.สุรชัย จงจิตงาม แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกรุณาเขียนเผยแพร่ทางเว็บไซท์ของสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ทางสำนักพิมพ์ฯ ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
เจดีย์กู่กุด ในวัดจามเทวี และสุวรรณเจดีย์ ในวัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน เป็นเจดีย์ในศิลปะหริภุญไชยที่รูปแบบเป็นทรงปราสาทซ้อนชั้นในผังสี่เหลี่ยม โดยแต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน
ที่มาของเจดีย์รูปทรงดังกล่าวนี้ มีที่มาหรือสัมพันธ์กับแหล่งศิลปกรรมใด นักวิชาการในปัจจุบันมีคำอธิบายที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
๑. ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งกรมศิลปากร พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายไว้ว่าเจดีย์รูปทรงดังกล่าวในประเทศไทย น่าจะมาจาก “สัตตมหัลปราสาท” ในศรีลังกา ซึ่งเป็นแหล่งพุทธศาสนาที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน
๒. ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอว่า น่าจะมาจากเจดีย์แบบหนึ่งที่นิยมในศิลปะอินเดีย เช่น เจดีย์พุทธคยา (หมายถึงเจดีย์ในรูปแบบเดิม ก่อนที่จะมีการซ่อมจนมีรูปลักษณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน)
๓. ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิยาลัยศิลปากร มีความเห็นว่าควรมีที่มาจากเจดีย์ที่เรียกว่า “ถะ” ในศิลปะจีน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าที่มาของเจดีย์แบบดังกล่าวมาจากไหน ซึ่งแต่ละแนวคิดนั้นล้วนแต่เป็นทฤษฎีที่ยังคงต้องศึกษาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบที่มาของรูปทรงเจดีย์ของจีนและอินเดีย ซึ่งคาดกันว่าเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์สี่เหลี่ยมในล้านนา
ในกรณีจีน Lian Ssu Ch’eng ได้อธิบายว่า เจดีย์รูปทรงดังกล่าวมีพัฒนาการมายาวนานก่อนราชวงศ์ถัง และอาจจะพัฒนามาจากรูปทรงอาคารซ้อนชั้นในผังสี่เหลี่ยมที่มีมาก่อนในสมัยราชวงศ์ฮั่น และยังมีข้อสังเกตว่าเจดีย์ซ้อนชั้นในผังสี่เหลี่ยมเช่นนี้มีปรากฏในอินเดียใต้ในรัฐทมิฬนาฎูอีกด้วย (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากลังกานัก) ไมเคิล ไรท ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเจดีย์ที่มีที่มาจากศิลปะจีนภายใต้เส้นทางการค้ากับจีน-อินเดียก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรตรวจสอบเพิ่มเติมกับเจดีย์ในศิลปะอินเดียต่อไปด้วย เพื่อให้ได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้น
อ้างอิง
พิเศษ เจียจันทรพงษ์. หาพระหาเจ้า (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๕), หน้า ๒๙.
ผาสุข อินทราวุธ. อารยธรรมโบราณในจังหวัดลำพูน (ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๖), หน้า ๘๘.
สันติ เล็กสุขุม, ความสัมพันธ์จีน - ไทย โยงใยในลวดลายประดับ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐).
Lian Ssu Ch’eng. Chinese Architecture (New York: Mineola, 1984), ภาพที่ ๑๕ ๑๖ และ ๖๓.
ไมเคิล ไรท์. “จีนกับอินเดีย หลักฐานที่พบใหม่” ศิลปวัฒนธรรม (พฤษภาคม ๒๕๓๙), หน้า ๖๒.
เจดีย์ห่านป่าใหญ่ เมืองซีอาน เป็นเจดีย์ซ้อนชั้นที่อาจเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์สี่เหลี่ยมในล้านนา |
อาคารซ้อนชั้นของจีน ที่มีมาก่อนสมัยราชวงศ์ถัง คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับเจดีย์ซ้อนชั้นหรือ "ถะ" ของจีน |
รูปวาดอาคารซ้อนชั้นในอินเดียใต้ ซึ่งไมเคิล ไรท คาดว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ซ้อนชั้น หรือ "ถะ" ของจีน |