ตึกราชดำเนิน ทำไมต้องทำเป็น “ลายหิน”
อาคารสองฝั่งถนนราชดำเนินสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล ที่สืบต่ออำนาจมาจากคณะราษฎร พ.ศ.2475
หากสังเกตอาคารเหล่านี้ จะพบว่าที่ผนังด้านหน้า ได้มีการเซาะร่องปูนให้ดูคล้ายกับการก่อเรียงหิน ไม่ใช่ผนังปูนเรียบ ๆ
อ.พินัย สิริเกียรติกุล ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ในวารสารหน้าจั่ว ว่า เดิมการประดับผนังด้วยหินหรือหินอ่อน เป็นรูปแบบหนึ่งในการยกฐานะของอาคารให้สวยงาม หรูหราขึ้น รวมถึงเพื่อแสดงความ “ศิวิไลซ์” ดังเช่น การประดับหินอ่อนที่โบสถ์ วิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ซึ่งพยายามมุ่งเน้นให้เห็นถึงเรื่องความเสมอภาค ได้ส่งผลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมด้วย นั่นคือ นิยมสร้างอาคารให้เรียบง่าย ลดการประดับประดา อันแสดงถึง “ฐานันดรศักดิ์” ลง
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความพยายามที่จะประดับประดาอาคารให้มีความงดงามด้วย แต่ด้วยความที่จะปฏิเสธการประดับอาคารให้หรูหราหรือ “ฐานันดรศักดิ์”แบบเก่าทิ้งเสีย จึงเลี่ยงด้วยการทำเพียงเซาะร่องปูนให้ดูเป็นลายหินเท่านั้น
อ.พินัย อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การไม่ประดับผนังด้วยหินอ่อน แต่ทำเพียงการเซาะร่องบนผนังปูนเช่นนี้ ยังอาจเกี่ยวข้องกับ การแสดงให้เห็นถึง “ชาตินิยม” “ใช้ของไทย” โดยไม่นำเข้าหินอ่อนมาจากต่างประเทศ แต่ประยุกต์ใช้บนผนังปูนแทน ซึ่งเป็นปูนที่ผลิตได้โดยบริษัทสยามซิเมนต์ กิจการที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทย และนำวัตถุดิบมาจากในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกิจการของบริษัทสยามซิเมนต์ ซึ่งกำลังมีผลประกอบการไม่ดีนัก
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมและเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกใน วารสารหน้าจั่ว ฉบับที่ 6 เดือนกันยายน 53 สามารถซื้อได้ที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถ.ราชดำเนิน และที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร