"จักรพรรดิราช" ปัจจัยสำคัญ ก่อสงครามพม่า - อยุธยา
ภมรี สุรเกียรติ อธิบายไว้ในหนังสือ "เมียนมาร์ สยามยุทธ์" ว่า การเคลื่อนทัพครั้งใหญ่ของพม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา มีสาเหตุสำคัญจากความเชื่อเรื่อง "จักรพรรดิราช" ของกษัตริย์พม่า ซึ่งเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์อื่นใดทั่วหล้า ฉะนั้นกษัตริย์ต่างแดนทั้งหลายจะต้องมาสวามิภักดิ์นอบน้อมต่อพระองค์
ภมรี สุรเกียรติ ได้แบ่งยุคสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยาครั้งใหญ่ ออกเป็น ๒ ช่วง คือ
๑. ยุคราชวงศ์ตองอูยุคต้น ซึ่งตรงกับยุคสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ในช่วงเวลานี้เป็นยุคที่ราชวงศ์ตองอูโดยพระเจ้าตะเบงชเวตี้เพิ่งขยายอำนาจไปทั้งด้านเหนือและใต้ จนทำให้สามารถยึดครองรัฐต่างๆ ในพม่าได้ รวมทั้งรัฐมอญ(หงสาวดี) ซึ่งเป็นรัฐสำคัญทางใต้ การขยายอำนาจมาครอบครองรัฐมอญเช่นนี้ ได้ทำให้พระองค์ต้องพยายามแสดงพระองค์ให้เป็นที่ยอมรับ จงรักภักดีจากขุนนางมอญ โดยทรงต้องสร้างบารมีด้วยการประกาศพระองค์ว่าทรงเป็น "จักรพรรดิราช" พระองค์ได้เคลื่อนทัพปราบปรามรัฐต่างๆ ทั่วทุกสารทิศ รวมถึงกรุงศรีอยุธยาให้มานอบน้อมต่อพระองค์ ซึ่งคติความเชื่อนี้ได้สืบทอดต่อเนื่องมาถึงรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง
๒. ยุคราชวงศ์คองบองยุคต้น ซึ่งตรงกับยุคสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้คือพระเจ้าอลองพญา พระองค์ก้าวขึ้นมาจากการเป็น "หัวหน้าชุมนุม" พระองค์ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์มาแต่เดิม ฉะนั้นพระองค์จึงต้องเร่งสร้างบารมี สิทธิธรรมในการก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์(Kingship) และการยอมรับนับถือจากฝ่ายต่างๆ ด้วยการแสดงเดชานุภาพในการเป็น "จักรพรรดิราช" ว่าทรงมีพระราชอำนาจเหนือกษัตริย์ต่างๆ พระองค์จึงต้องกรีธาทัพออกปราบปรามรัฐต่างๆ รอบทิศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสงครามคราวเสียกรุงฯ ทั้งสองครั้งจะเกิดขึ้นจาก "คติจักรพรรดิราช" เหมือนกัน ทว่าผลของสงครามทั้งสองครั้งกลับแตกต่างกัน โดยครั้งแรก แม้กรุงศรีอยุธยาจะพ่ายแพ้แก่พม่า แต่พม่าก็ไม่ได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาให้สิ้นสูญ กลับแต่งตั้งกษัตริย์จากเชื้อวงศ์เดิมให้ปกครองอยุธยาสืบต่อไป โดยต้องถวายความอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์พม่า ส่วนสงครามครั้งที่สอง เมื่อพม่าได้เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ ก็ได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาให้สิ้นสูญ ไม่ให้สามารถกลับมามีอำนาจได้อีก
ภมรี สุรเกียรติ ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า ผลของสงครามทั้งสองครั้งที่แตกต่างกันนี้ เกิดขึ้นจากโครงสร้างการปกครองของพม่าในแต่ละยุคสมัยที่มีความแตกต่างกันนั่นเอง
ในคราวสงครามเสียกรุงฯครั้งที่ ๑ เวลานั้นพม่ามีโครงสร้างการปกครองที่มุ่งสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์แบบวงศาคณาญาติ หรือมุ่งสร้างความจงรักภักดี ฉะนั้นเมื่อสามารถยึดครองเมืองใดได้แล้ว ก็มักจะแต่งตั้งเจ้าเมืองเชื้อวงศ์เดิมให้ปกครองเมืองต่อไป โดยต้องสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์พม่า ส่วนในคราวสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ โครงสร้างการปกครองของพม่าในขณะนั้นกลับเป็นไปในลักษณะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ราชธานี มุ่งกำจัดศูนย์กลางอำนาจอื่นๆ ให้สูญสิ้นไป ไม่ให้สามารถกลับมามีอำนาจแข่งกับตนได้อีก
อ่านรายละเอียดเรื่องนี้รวมทั้งประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกใน "เมียนมาร์ สยามยุทธ์" ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน