สงกรานต์ ไม่ใช่ของไทยแห่งเดียว แต่มีในหลายประเทศ เช่น เขมร, ลาว,พม่า
(จากคอลัมน์ "ชุมชนคนท้องถิ่น" วันจันทร์ 11 เมษายน 2554 โดย "เรือนอินทร์ หน้าพระลาน")
สงกรานต์ ถูกทำให้เชื่อมานานแล้วว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแท้ๆ มาแต่โบราณกาล แต่ไม่เป็นความจริง เพราะสงกรานต์เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ มีกำเนิดในชมพูทวีป (อินเดีย) เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ จึงไม่ใช่ประเพณีไทยแท้ๆ ตามที่กล่าวอ้าง
สงกรานต์ของศาสนาพราหมณ์แพร่หลายจากชมพูทวีปเข้าสู่อุษาเคนย์ ถึงราชสำนักสุวรรณภูมิราวหลังพ.ศ. 500 แล้วเป็นพิธีกรรมสำคัญอยู่ในราชสำนักก่อน สมัยแรกๆ ยังไม่แพร่หลายลงสู่สามัญชนชาวบ้าน ต้องใช้เวลาอีกนานมาก จนราวหลัง พ.ศ. 2000 ถึงลงสู่สามัญชนชาวบ้าน ราชสำนักในสุวรรณภูมิที่อยู่ใกล้ทะเลแล้วรับศาสนาพราหมณ์และพุทธ ล้วนมีสงกรานต์เหมือนๆกัน เช่น กัมพูชา, ไทย, ลาว, พม่า, ฯลฯ หลังจากนั้นแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนภายใน เช่น ล้านนา, ล้านช้าง, จนถึงสิบสองพันนา (ในจีน)
บ้านเมืองเหล่านี้มีประเพณีสงกรานต์เหมือนกันทั้งหมดสืบจนทุกวันนี้ แล้วบอกว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนทั้งนั้น ดังนั้น สงกรานต์จึงไม่ได้มีที่ไทยแห่งเดียว แต่มีทั่วไปทั้งในกัมพูชา, ลาว, พม่า, รวมทั้งในจีน
วันขึ้นปีใหม่ เป็นประเพณีตะวันตก มีกำเนิดทางตะวันตก ไม่ใช่ของตะวันออก จึงไม่ใช่ของไทยแท้ๆ เพราะไทยแท้ๆ ไม่มีประเพณีวันขึ้นปีใหม่
เดือนอ้าย หมายถึง เดือนที่ 1 อยู่ช่วงเวลาตั้งแต่หลังลอยกระทงกลางเดือน 12 รุ่งขึ้นก็เริ่มเดือนอ้ายนับเป็นขึ้นฤดูกาลใหม่ แล้วขึ้นนักษัตรใหม่ของดินแดนสุวรรณภูมิ เช่น กัมพูชา, ลาว, และไทย เทียบสากลได้ว่าขึ้นปีใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ขึ้นปีใหม่ หากเป็นขึ้นฤดูกาลใหม่ หรือ ขึ้นนักษัตรใหม่