ผี-พราหมณ์-พุทธ "ศาสนาแบบไทย" เครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นคงในอาณาจักร
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักคิดนักเขียนด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ปาฐกถาในงานเสวนาเรื่องแขวนเสรีภาพ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 ในหัวข้อ "อำนาจของผี พราหมณ์ พุทธ" มีประเด็นสรุปคือ
-เดิมที่เข้าใจกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมพุทธแท้นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นศาสนาพุทธที่นำเอาศาสนาผี และศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมกลมกลืนอยู่ด้วย
-ความเชื่อเรื่องผี ก็ถือเป็นศาสนาอย่างหนึ่ง เหมือนศาสนาพุทธ เป็นระบบความเชื่อพื้นฐานที่มีมานานนับตั้งแต่มีมนุษย์ นอกจากนี้ยังถือเป็นระบบที่ใช้ในการรักษากฎเกณฑ์ระเบียบสังคมด้วย
-"ผี" ที่ในอดีตเคารพนับถือองค์หนึ่งก็คือ "ผีฟ้า" ซึ่งสถิตอยู่บนฟ้าและพื้นดิน คอยทำหน้าที่พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี นอกจากนี้คำว่าผีฟ้า ยังอาจใช้สื่อถึงกษัตริย์ได้ด้วย
-การเผยแผ่ของศาสนาพุทธเข้าสู่ดินแดนไทยในระยะแรก ไม่มีความราบรื่น โดยต้องต่อสู้กับระบบความเชื่อเดิม ซึ่งก็คือศาสนาผี การต่อสู้และกำราบศาสนาเดิม สะท้อนให้เห็นได้จากตำนานหรือนิทานพื้นเมืองที่เล่าถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าแล้วทรงปราบนาคหรือยักษ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อเรื่องผีของคนพื้นเมือง
-พิธีกรรมหรือความเชื่อในทุกวันนี้ที่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานผี-พุทธ-พราหมณ์ เช่น ทำขวัญนาค โล้ชิงช้า การดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา
-ระบบความเชื่อ ผี-พราหมณ์-พุทธ ล้วนดำรงอยู่ ก็เพื่อยกย่องการเมืองแบบราชอาณาจักร ให้มั่งคั่ง และมั่นคง