ตึกศาลฎีกา อาคารประวัติศาสตร์ "คณะราษฎร" ที่ระลึก "เอกราชทางศาล" ของไทย

ตึกศาลฎีกา อาคารประวัติศาสตร์ "คณะราษฎร" ที่ระลึก "เอกราชทางศาล" ของไทย

ตึกศาลฎีกา อาคารประวัติศาสตร์ "คณะราษฎร"
ที่ระลึก "เอกราชทางศาล" ของไทย

 














ภาพที่ 1                                                                                        ภาพที่ 2
 


ภาพที่ 3

         ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนบทความเผยแพร่ คัดค้านการทุบทำลาย ตึกศาลฎีกา ข้างสนามหลวง กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ที่สร้างขึ้นในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อระลึกถึงการได้ "เอกราชทางศาล" หลังจากเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ขอยกข้อเขียนที่น่าสนใจของชาตรี ประกิตนนทการ มาเสนอดังนี้

ณ ขณะที่ทุกท่านกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ กลุ่มอาคารศาลฎีกา ริมท้องสนามหลวง กำลังถูกรื้อถอนทำลายลงอย่างเงียบๆ เพื่อสร้างเป็นอาคารศาลฎีการูปทรงสถาปัตยกรรมไทยประเพณีขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่ (ภาพที่ 1)กลุ่มอาคารชุดนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2482 (สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นอนุสรณสถานในการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับ “เอกราชทางการศาล” คืนอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481 นับจากที่ต้องสูญเสียไปตั้งแต่เมื่อครั้งทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ ตัวอาคารยังถูกออกแบบก่อสร้างขึ้นด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สะท้อนแนวคิดและอุดมคติอย่างใหม่ของสังคมไทยในยุคประชาธิปไตยตามนิยามของ “คณะราษฎร” ซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงไม่มากนักในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป กลุ่มอาคารศาลฎีกา มิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ตึกอาคารราชการที่เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ศาลนั่งทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองสมัยใหม่ของไทย และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พัฒนาการทางศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย

จากความสำคัญดังกล่าว สมาคมสถาปนิกสยามจึงได้ประกาศมอบรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้มีหนังสือยืนยันไปยังศาลตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามนิยามที่กฏหมายกำหนด และหากมีการรื้อถอนหรือเปลี่ยนแปลงจำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมศิลปากรก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อราวต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนอาคารในส่วนด้านที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม โดยเริ่มจากการรื้อถอนภายใน  และจากการสอบถามจากช่างที่กำลังรื้อถอนอาคารอยู่ ได้ทราบว่า โครงการรื้ออาคารทั้งหมดในส่วนนี้มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน (ประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายนปี พ.ศ. 2556)สภาพการรื้อถอน ณ ปัจจุบัน

การรื้อถอนและทำลายกลุ่มอาคารศาลฎีกาครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ ดังต่อไปนี้

1.เป็นการทำลายอนุสรณสถานแห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มอาคารชุดนี้ถือว่าเป็นถาวรวัตถุเพียงชิ้นเดียวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยในครั้งนั้น
2.เป็นการทำลายมรดกทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎร ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึงอุดมคติใหม่ทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยในยุคหลังปฏิวัติ 2475 ซึ่งไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามกับคุณค่าทางศิลปะของงานยุคสมัยนี้ แต่เราย่อมไม่อาจปฏิเสธถึงคุณค่าในเชิงการเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของกลุ่มอาคารหลังนี้ได้อย่างแน่นอน
3.เป็นการทำลายมรดกสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในการอนุรักษ์มากขึ้นๆ ในระดับสากล ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ Industrial Heritage เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวคือ ผลผลิตที่สะท้อนจิตวิญญาณอย่างใหม่ในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม
4.กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ที่จะสร้างขึ้นแทนนั้น มีความสูงมากถึง 32 เมตร สูงเกินที่กฏหมายกำหนด 2 เท่า (กฏหมายกำหนดให้อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องสูงไม่เกิน 16 เมตร) ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่การยืนยันที่จะสร้างอาคารที่สูงเกินกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานอื่นๆ ถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดมาตลอดเกือบ 30 ปีนั้น ย่อมเท่ากับเป็นการกระทำในลักษณะสองมาตรฐาน อันจะนำมาสู่ปัญหาว่าด้วยความชอบธรรมของกฏหมายฉบับนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ละเมิดกฏเกณฑ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นศาลเอง ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำในการรักษากฏเกณฑ์และมาตรฐานทางกฏหมาย
5.ด้วยความสูงของกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่ที่มากถึง 32 เมตร และยาวประมาณ 140 เมตร (เฉพาะด้านที่ติดกับสนามหลวง) ย่อมจะเป็นการทำลายทัศนียภาพของโบราณสถานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสิ่งนี้จะเป็นการสั่นคลอนความชอบธรรมในนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ในอนาคต (ภาพที่ 3)ภาพจำลองหากสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังใหม่แล้วเสร็จ

จากผลกระทบข้างต้น การรื้อทำลายกลุ่มอาคารศาลฎีกา ย่อมมิอาจมองว่าเป็นเพียงการรื้อตึกอาคารราชการในเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวได้ แต่การรื้อทำลายครั้งนี้ คือการทำลายความทรงจำทางประวัติศาสตร์สังคมไทย, ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่, ทำลายมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งในระดับสากลและระดับชาติ, ทำลายภูมิทัศน์ของพื้นที่โบราณสถาน, และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายโดยหน่วยงานที่ถือกฏหมายเอง

สุดท้ายนี้ ขอเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกาในครั้งนี้ ได้โปรดพิจารณาระงับการรื้อถอนดังกล่าว และหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ในการปรับปรุงและซ่อมแปลงอาคารแทน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการและเทคโนโลยีมากมายซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรื้อสร้างใหม่แต่อย่างใด

ชาตรี ประกิตนนทการ

15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้