ดอกไม้ในพิธีศพ เก่าแก่ที่สุดพบที่อิสราเอล อายุ 10,000 ปี
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล นักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เขียนเล่าไว้ในบทความเรื่อง "บุหงาอาลัย เมื่อปลายยุคน้ำแข็ง : การอุทิศดอกไม้แด่ผู้ล่วงลับที่เก่าที่สุด" ที่เผยแพร่ในเว็บไซท์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรว่า จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 10,000 ปีนที่ถ้ำ raqefet ประเทศอิสราเอล เมื่อ พ.ศ. 2556 โดยนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่ง ได้พบหลักฐานที่น่าสนใจที่ชี้ว่า ประเพณีการใช้ดอกไม้ในพิธีศพมีมาอย่างน้อย 10,000 ปีแล้ว
ข้อเสนอนี้มาจากการค้นพบว่า ในหลุมศพจำนวน 4 หลุมมีร่องรอยของรอยประทับของช่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง ประทับอยู่ที่ก้นหลุม ซึ่งจากการศึกษาแล้วพบว่าเป็นพืชในสกุลมิ้นต์และสกุลซัลเวีย โดยนักโบราณคดีคาดว่า ในพิธีศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่นี่ได้มีการนำดอกไม้วางแผ่ไว้ที่ก้นหลุมจนเต็ม หลังจากนั้นจึงวางร่างของผู้เสียชีวิตลงไป
นักโบราณคดีอธิบายว่า รอยประทับของช่อดอกไม้ดังกล่าวนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากเดิมในยุคนั้นบริเวณก้นหลุมเป็นดินโคลน เมื่อนำช่อดอกไม้เหล่านี้วางลงไป จึงทำให้ช่อดอกไม้เหล่านี้ประทับจมลงในดินโคลน และเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลานาน ดินเหล่านี้จึงแปรสภาพเป็นของแข็ง จนทำให้เกิดเป็นรอยประทับของช่อดอกไม้เกิดขึ้น นอกจากนี้นักโบราณคดียังอธิบายว่า การนำดอกไม้มาอุทิศแก่ศพเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการอุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิต หรือส่งวิญญาณของผู้เสียชีวิตแล้ว ยังอาจเป็นการดับกลิ่นศพและป้องกันสัตว์มุดมากัดแทะในหลุมศพด้วย
นักโบราณคดีได้ชี้ว่า หลักฐานการค้นพบการวางดอกไม้ไว้ในหลุมศพดังกล่าวข้างต้นนี้ ถือเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบัน และทำให้สรุปได้ว่า การอุทิศดอกไม้แก่ศพมีมาอย่างน้อย 10,000 ปีมาแล้ว
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้โดยคลิก Link นี้ http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=779