นากามูระ นายทหาร ผู้นำทัพญี่ปุ่นประจำไทย สมัยสงครามโลก

นากามูระ นายทหาร ผู้นำทัพญี่ปุ่นประจำไทย สมัยสงครามโลก

นากามูระ นายทหาร ผู้นำทัพญี่ปุ่นประจำไทย สมัยสงครามโลก
            สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อ “อาเคโตะ นากามูระ” ได้รับคำสั่งให้ย้ายเข้ามาประจำการในประเทศไทย
            เล่ากันว่าเขาเป็นคนที่รักเมืองไทย
            พลโทนากามูระ เกิดวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ ที่จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก แล้วไปศึกษาต่อที่เยอรมัน จากนั้นกลับมาสอนที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก แล้วย้ายไปเป็นผู้บังคับบัญชาการกรมทหารที่ ๒๔ เขตแมนจูเรีย เป็นอธิบดีกรมกิจการทหาร อธิบดีกรมธุรการทหาร ผู้บัญชาการกองพลที่ ๕ นำพลบุกตอนเหนือของอินโดจีน-ฝรั่งเศส หลังจากนั้นจึงกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลประจำนาโกยา และเป็นผู้บัญชาการกรมสารวัตรทหาร ก่อนที่จะย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๘๖
            ขณะนั้นกองทัพญี่ปุ่นเล็งเห็นว่า ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญและยังเป็นแหล่งเสบียงอาหารอีกด้วย ทำให้ญี่ปุ่นต้องการจะดึงไทยมาเป็น “พันธมิตรร่วมรบ” มากกว่าที่จะเข้า “ปกครอง” อย่างที่ปฏิบัติกับประเทศอื่นๆ พลโทนากามูระจึงได้รับมอบหมายให้เข้ามาสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่น
            พลโทนากามูระได้พยายามแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ และปรับ “ภาพลักษณ์” ของคนญี่ปุ่นในไทย ด้วยการปรับแก้ความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างคนสองชาติ เช่น ห้ามทหารญี่ปุ่นตบหน้าเชลย ห้ามเปลือยกายหรือแต่งกายน้อยชิ้นประเจิดประเจ้อ ห้ามยืนปัสสาวะในที่สาธารณะ เพราะคนไทยรับไม่ได้ ทั้งยังมีการแจกเอกสารให้ทหารญี่ปุ่นรู้ว่าควรประพฤติตนอย่างไรในสังคมไทย
            นอกจากนี้พลโทนากามูระยังประนีประนอมหนี้สิน ช่วยเหลือเรื่องค่าตอบแทน และพยายามช่วยในลักษณะที่ยอมให้คนไทยหลายครั้ง กระทั่งมีคำกล่าวในหมู่ทหารญี่ปุ่นว่าผู้บัญชาการนากามูระนั้น “หวาน” ไป
            ท้ายที่สุด พลโทนากามูระถูกส่งตัวกลับไปประเทศญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามเมื่อปี ๒๔๘๙
 
สรุปความจาก อาเคโตะ นากามูระ, เขียน. ผู้บัญชาการชาวพุทธ บันทึกผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ แปลโดย เออิจิ มูราซิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๓๔.
(สามารถอ่าน E-book หนังสือเล่มนี้ได้จาก
https://th-th.facebook.com/textbooksproject หมวดประวัติศาสตร์)


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้