ยุทธศาสตร์ “กลับทิศ” วังอยุธยา เพื่ออารักขากษัตริย์
ประวัติการสร้างพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องน่าสนใจประการหนึ่งคือ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา พระองค์ได้โปรดฯ ให้มีการปรับเปลี่ยนแผนผังพระราชวังครั้งใหญ่นั่นคือ ให้มีการกลับทิศวังเสียใหม่ เปลี่ยนทางเข้าจากเดิมที่เข้าทางทิศตะวันออก ตรงบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ให้มาเข้าทางด้านท้ายวังหรือด้านหลังวัง(ทิศตะวันตก) ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพระราชฐานชั้นในแทน
อะไรเป็นสาเหตุของการกลับทิศวัง อันแปลกประหลาดนี้?
ร.อ.นพดล ปาละประเสริฐ ผู้วิจัยเรื่องพัฒนาการของพระราชวังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “พระราชวัง ๓ แคว้น” ว่า การกลับทิศวังดังกล่าวนี้ อาจมีวัตถุประสงค์เพื่ออารักขาสมเด็จพระเพทราชา หลังจากก่อนหน้านี้ได้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงภายในราชสำนัก กระทั่งพระองค์ได้ก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ จนอาจเป็นเหตุให้พระองค์มีศัตรูทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่ออารักขาองค์กษัตริย์ให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด จึงมีการวางยุทธศาสตร์แผนผังวังเสียใหม่ ด้วยการกลับทิศวัง “หลังเป็นหน้า หน้าเป็นหลัง” เนื่องจากบริเวณด้านหน้าเดิม หรือด้านทิศตะวันออก ถือเป็นจุดล่อแหลมที่มักถูกบุกจู่โจมจากศัตรูทางการเมืองได้ง่าย ส่วนทางด้านหลังพระราชวัง หรือทางด้านตะวันตก ถือเป็นจุดที่มีความปลอดภัยกว่า เนื่องจากอยู่ลึกเข้ามาภายใน และยังมีคลองท่อ ทอดตัวเป็นแนวยาวขนานไปกับกำแพงพระราชวัง เปรียบเสมือนเป็นปราการอีกชั้นหนึ่งด้วย โดยในครั้งนั้นสมเด็จพระเพทราชายังโปรดฯ ให้มีการก่อสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ๒ องค์ ในบริเวณด้านหลังของพระราชวัง เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ นั่นคือ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์และพระที่นั่งทรงปืน
อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยถัดๆ มาเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองผ่อนคลายลง จึงได้มีการหันทิศทางเข้าพระราชวังกลับไปเป็นดังเดิม
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้ใน หนังสือเรื่อง “พระราชวัง ๓ แคว้น” โดย ร.อ.นพดล ปาละประเสริฐ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส