เพชรบูรณ์ มาจาก “พืช+บุรี”? แหล่งหลบภัยครั้งกรุงแตก
ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเพชรบูรณ์ฯ เขียนโดย อ.ธีระวัฒน์ แสนคำ ได้เล่าถึงที่มาของชื่อเมืองเพชรบูรณ์ไว้ว่า กฤษณ์ อินทโกศัย ได้เคยเสนอว่า อาจมาจากคำว่า “เพช” ซึ่งหมายถึง “พืช” + “บุรี” แปลว่าเมือง เมื่อรวมแล้วมีความหมายว่า “ที่เพาะปลูกพืชผลไม้” ซึ่งตรงกับชื่อเมืองในอินเดียใต้เมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า “พีชปุร”
อ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า ในอดีตสมัยอยุธยา เมืองแห่งนี้ถือเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้เชื่อมต่อไปยังรัฐล้านช้างและเมืองเวียงจัน โดยในสมัยอยุธยาตอนต้นมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี มีเจ้าเมืองราชทินนามว่า “ออกพระเพ็ชรัตนสงครามออกพระเพ็ชบูรณ์ตรี” ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโท มีเจ้าเมืองราชทินนามว่า “ออกญาเพชรัตนสงครามรามภักดีพิริยภาหะ”
อ.ธีระวัฒน์ เล่าเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาใกล้แตก บรรดาเหล่าขุนนางในกรุงศรีอยุธยาต่างพยายามพาครอบครัวหลบหนีสงครามไปยังบ้านเมืองที่ห่างไกลที่สามารถใช้เป็นที่หลบภัยสงครามได้ เมืองเพชรบูรณ์ถือเป็นเมืองหลบภัยเมืองหนึ่งที่มีชาวกรุงศรีอยุธยาอพยพหนีมาอาศัยอยู่ เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากเส้นทางเดินทัพของอังวะและมีชัยภูมิที่ดีมีภูเขาล้อมรอบ บุคคลที่หลบมาพำนักอยู่มีเช่น นายบุญมา มหาดเล็กในพระเจ้าอุทุมพร เป็นต้น
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเพชรบูรณ์ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา" โดย อ.ธีระวัฒน์ แสนคำ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย ผู้เชี่ยวขาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคกลางตอนบน จัดพิมพ์เผยแพร่โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์