“พระบรมธาตุไชยา” ยุคแรกเริ่ม สร้างตามแบบ “ศิลปะจาม”
สะท้อนภาพเส้นทางการค้าเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว
จากการวิจัยของ วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล รศ.เสนอ นิลเดช และอ.โชติมา จตุรวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมสร้างขึ้นในรูปแบบของศิลปะจาม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
คณะวิจัยดังกล่าว อธิบายว่า เมื่อครั้งพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรัฐสำคัญแห่งหนึ่งคือ รัฐจามปา ซึ่งอยู่ในเขตประเทศเวียดนามในปัจจุบัน รัฐแห่งนี้เป็นรัฐการค้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีเครือข่ายเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค ซึ่งคาดว่าเมืองไชยา คือเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งที่รัฐจามปาใช้เชื่อมโยงนำสินค้าข้ามคาบสมุทรมาลายูไปยังมหาสมุทรอินเดีย จากการศึกษาของคณะวิจัยดังกล่าวพบว่า ในเมืองไชยาและบริเวณใกล้เคียง พบหลักฐานโบราณวัตถุสถานอิทธิพลศิลปะจามหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง เช่น เอกมุขลึงค์ ฐานโยนี ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่สำคัญคือพบว่า พระบรมธาตุไชยา เดิมเมื่อแรกสร้างยังน่าจะมีรูปแบบศิลปะจามด้วย
คณะวิจัย อธิบายว่า เดิมพระบรมธาตุไชยา น่าจะสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12-13 ตรงกับสมัยมิเซิน ของศิลปะจาม และต่อมาในสมัยฮัวลาย-สมัยดงเดือง ได้สร้างขึ้นเป็นอาคารซ้อนชั้นตามแบบศิลปะจามในเวลานั้น โดยแต่ละชั้นประดับด้วยซุ้มกูฑุ ต่อมาเมื่อรัฐศรีวิชัยเฟื่องฟูขึ้นแทนรัฐจามปาในพุทธศตวรรษที่ 14-15 พระบรมธาตุไชยา จึงได้รับการปรับโฉมใหม่ ด้วยการประดับสถูปจำลององค์เล็กๆ ไว้ตามชั้นหลังคา ตามแบบ “จันทิ” ซึ่งนิยมสร้างในชวากลาง (อินโดนีเซีย) โดยต่อมาภายหลังยังได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกเล็กน้อย จนมีรูปทรงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
การค้นพบของคณะวิจัยดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึง เครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพุทธศตวรรษที่ 12-15 ได้เป็นอย่างดี
อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน บทความเรื่อง “การวิเคราะห์ใหม่: สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ในวารสารหน้าจั่ว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 30
(ที่มาภาพ: http://radio.prd.go.th)