ฝังศพคนสำคัญลงในหม้อ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต้นเค้า “โกศ”
มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากจะมีการฝังศพ โดยจัดวางศพให้นอนราบเหยียดยาวในหลุมศพแล้ว ยังมีวิธีการฝังศพอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป คือ การฝังศพไว้ในภาชนะดินเผาหรือ “หม้อ” ขนาดใหญ่
ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือ “ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” ว่า การฝังศพลงในภาชนะดินเผา เป็นพิธีกรรมฝังศพที่พิเศษแบบหนึ่ง พบในประเทศไทยมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยหินใหม่ หรือราว 3,500-5,000 ปีมาแล้ว โดยพบว่าเป็นวิธีที่มักใช้กับศพของเด็กทารก และบุคคลที่เป็นผู้นำหรือคนสำคัญของชุมชน
ดร.ธนิก อธิบายอีกว่า ศพที่ถูกฝังอยู่ในภาชนะดินเผา ที่พบเก่าแก่ที่สุดในไทยเท่าที่พบในปัจจุบัน ถูกพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา โดยพบว่าศพถูกบรรจุไว้ในภาชนะดินเผาที่ถูกเจาะเป็นช่องบริเวณไหล่ของภาชนะ เพื่อใช้เป็นช่องบรรจุศพเข้าไปภายใน และมีฝาปิดด้านบน โดยจัดวางศพให้อยู่ในท่านั่งงอเข่า ก้มศีรษะ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ทางโบราณชีววิทยาของนักโบราณคดีประจำโครงการ พบว่า ศพที่ถูกบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาใบนี้ เป็นบุคคลที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่อาจมาจากชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนในปัจจุบัน ซึ่งมีวิธีการฝังศพลงในภาชนะดินเผาเช่นเดียวกัน
การฝังศพลงในภาชนะขนาดใหญ่เช่นนี้ มีผู้เสนอว่า อาจเป็นต้นเค้าของพิธีกรรมการบรรจุศพชนชั้นสูงลงในโกศดังที่รู้จักกันในปัจจุบัน
อ่านรายละเอียดของประเด็นนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีกใน หนังสือเรื่อง “ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” เขียนโดย ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธ์ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
(ที่มาภาพ: Higham)