ในอินเดีย ไม่มี “แม่ธรณีบีบมวยผม” แต่นิยมในอุษาคเนย์

ในอินเดีย ไม่มี “แม่ธรณีบีบมวยผม” แต่นิยมในอุษาคเนย์

ในอินเดีย ไม่มี “แม่ธรณีบีบมวยผม” แต่นิยมในอุษาคเนย์
                พระแม่ธรณี หรือ เทวีแห่งแผ่นดิน คือเทวีท้องถิ่นอินเดีย ที่ถือกำเนิดขึ้นจากคติความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือผู้หญิงและธรรมชาติ
                อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดี กรมศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือ “ทิพยประติมา” ว่า พระนางถูกกล่าวถึงอยู่ในพุทธประวัติตอนมารวิชัย หรือ “มารผจญ” ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา โดยถูกกล่าวถึงในชื่อ “เทพธิดาแห่งแผ่นดิน” (สถาวรา) โดยเล่าว่า ในเวลานั้นพระพุทธองค์ทรงอ้างแผ่นดินเป็นพยานในการบำเพ็ญทาน ด้วยการใช้พระหัตถ์ตบแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินสะเทือนเสียงดัง จนมารหนีไป ระหว่างนั้น “เทพธิดาแห่งแผ่นดิน” ได้ปรากฏกายขึ้น กระทำอัญชลีต่อพระพุทธองค์ โดยไม่ได้กล่าวว่ามีการ “บีบมวยผม” และมีน้ำไหลออกมาจากปลายผมแต่อย่างใด ดังนั้นในงานศิลปกรรมตอนมารวิชัยของอินเดียนั้น หากมีภาพพระแม่ธรณีปรากฏร่วมอยู่ด้วย ก็จะสร้างขึ้นเป็นเพียงสตรียืนหนือนั่งถือหม้อน้ำเท่านั้น
                สำหรับคติการสร้างรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เริ่มปรากฏขึ้นในอุษาคเนย์(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)มาอย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 แล้ว พร้อมกับการเสริมแต่งพุทธประวัติขึ้นใหม่ คติดังกล่าวนี้คงแพร่หลายทั่วไป รวมถึงในชุมชนโบราณของไทยด้วย ดังปรากฏหลักฐานงานศิลปกรรมหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ได้อีก ในหนังสือ “ทิพยประติมา” เขียนโดย อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดี กรมศิลปากร ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้